วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โลซก มีเพื่อนต้องมีแบบโลซก


ผู้สานสัมพันธ์พันธมิตรซุน-เล่า แม่ทัพใหญ่คนที่ 2 แห่งง่อก๊ก นาม "โลซก"

สำหรับบทความนี้ มีแฟนเพจท่านหนึ่งได้โพสต์มาในเพจ ครบเครื่องเรื่องสามก๊ก ของผู้เขียนว่า "อยากอ่านบทวิเคราะห์โลซก จากแอดมินครับ ไม่ทราบว่าจะอนุเคราะห์ได้ไหมครับ" ตั้งแต่เดือนสิงหาคม วันนี้เพิ่งมีโอกาสเขียน จึงขออภัยหากต้องรอนานครับ และขอขอบคุณที่มีความประสงค์ที่จะอ่านบทความของผู้เขียน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าดีใจของผู้เขียนมากครับ

ในวรรณกรรมสามก๊กนั้น มีตัวละครมากมายที่โลดแล่นออกมา บางตัวออกมาไม่กี่ตอน แต่สามารถทำให้ผู้คนจดจำได้เป็นอย่างดี และในบรรดาตัวละครที่น่าสนใจนั้น มีอยู่หนึ่งตัวละครที่ถูกมองว่า "โง่" ด้วยถูกขงเบ้งหลอกอยู่บ่อยครั้ง จนลืมความเก่งกาจสามารถของเขาไปเสียได้ จนมีคำด่าในสมัยก่อนว่า "ไอ้โลซก"*1 เลยทีเดียว ทั้งที่จริงโลซกนั้นมีความสามารถมาก กินตำแหน่งถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดของง่อก๊ก ถ้าโง่ คงเป็นมิได้


โลซก เป็นลูกของเศรษฐี มีน้ำใจกว้างขวาง สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายลักษณะนิสัยของโลซกว่า


"เป็นคนปัญญา ดี รอบรู้ เจ้าตำรา แม้ในยามออกศึกก็มีตำรับตำราติดมืออยู่ไม่ห่าง ทั้งยังมีวินัย ใจบุญ ไม่ยึดติดในทรัพย์ศฤงคารและเห็นอกเห็นใจคนอื่นเสมอ"

มีบทบาทสำคัญในช่วงยุทธการเซ็กเพ็ก และช่วงการขัดแย้งเรื่องดินแดนของจ๊กก๊กและง่อก๊ก เป็นผู้สนับสนุนการเป็นพันธมิตรของจ๊กก๊กและง่อก๊ก หรือ "พันธมิตรซุนเล่า" และเมื่อจิวยี่ถึงแก่กรรมไป โลซกได้รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แห่งง่อก๊กแทน
ภาพวาดโลซก ต้นแบบจากสามก๊ก 2010
ในช่วงซุนเซ็ก (พี่ชายซุนกวน) กำลังบุกเบิกดินแดนกังตั๋ง สร้างอิทธิพลง่อก๊ก (ซึ่งต่อมาก็ส่งผลให้ซุนกวนผู้สืบทอดอำนาจต่อจากซุนเซ็ก ไม่ต้องออกรบสร้างอิทธิพลมากนัก เพราะรุ่นพี่ชายก็มีมากแล้ว) โดยมีจิวยี่เป็นเพื่อน เป็นน้อง เป็นที่ปรึกษา ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ซุนเซ็กมาตลอด ซึ่งครั้งหนึ่งจิวยี่เคลื่อนทัพผ่านเมืองที่โลซกอาศัยอยู่ ด้วยขาดแคลนเสบียง จึงไปขอยืมจากโลซก โลซกเองนั้นก็เป็นอภิมหาอัครเศรษฐีผู้มั่งคั่งอยู่แล้ว จึงได้ให้จิวยี่ไปมากเกินจะคาด และยังถามอีกว่า แค่นี้จะพอหรือ ข้างหน้ายังอีกยาวไกล นั้นแสดงถึงความเป็นมิตร ความมีน้ำใจอันกว้างขวาง และความเป็นคนมองการณ์ไกลอีกด้วย

ในช่วงเล่าปี่กำลังหนีโจโฉ ซึ่งนำทัพหมายทำลายศัตรูทางการเมืองตัวสำคัญ ขงเบ้งเป็นตัวแทนของเล่าปี่ ไปง่อก๊กเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่กระนั้นกว่าขงเบ้งจะได้พบกับซุนกวน ก็ต้องดวลคารม ทำสงครามลิ้นกับปราชญ์หยูแห่งง่อก๊ก และเมื่อขงเบ้งได้พบซุนกวน ก็พูดไม่ค่อยจะเข้าหูซุนกวนนัก แต่โลซกก็เป็นผู้เกลี่ยกล่อมซุนกวนให้ฟังแผนจากขงเบ้ง จนซุนกวนเห็นด้วยและตกลงจะร่วมมือเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ สู้ศึกกับโจโฉ

ระหว่างศึกนั้น จิวยี่ แม่ทัพใหญ่แห่งง่อก๊กในเวลานั้น ก็มีความพยายามจะสังหารขงเบ้งในระหว่างศึก โลซกจึงเป็นเสมือนคนกลางของจิวยี่และขงเบ้งมาระหว่างศึก ซึ่งถ้าลองมองและวิเคราะห์ดี ๆ เราอาจจะเห็นว่า ในการที่จิวยี่พยายามจะหาแผนมาสังหารขงเบ้งนั้น โลซกก็ใช่ว่าจะเห็นด้วย เกรงเมื่อเสียขงเบ้งไป ก็จะเหมือนการเสียสมองของกองทัพไป นั้นแสดงถึงความเป็นคนมองการณ์ไกลของโลซกนั้นเอง
จิวยี่ จากภาพยนตร์ Red Cliff
ในช่วงความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊กนั้น โลซกมีหน้าที่เป็นทูตของง่อก๊ก เพื่อทวงคืนดินแดนของง่อก๊ก ที่ฝ่ายเล่าปี่ได้ขอยืมไปตั้งตัว ซึ่งโลซกก็ถูกขงเบ้งใช้กลหลอกเพื่อยืดเวลาคืนเมืองโดยตลอด นี่ทำให้โลซกกลายเป็นคนโง่ไปโดยปริยาย ถ้ามองให้ดี แล้วลองวิเคราะห์ให้ดี ผู้เขียนเห็นว่ามีความเป็นได้ 2 ทาง

1. รู้จักกันทั่วไปว่าโลซกนั้นเป็นคนใจดี ซึ่งโลซกนั้นก็มองเล่าปี่ว่าเป็นคนดี ขงเบ้งว่าเป็นคนดี จึงอาจจะไม่ได้คิดอะไรนัก เพราะไว้ใจ แต่สุดท้ายไว้ใจผิดแล้ว...

2. โลซกอาจจะ "แกล้งโง่" เพราะไม่อยากจะให้ทั้งง่อและจ๊กก๊กขัดแย้งกันก็เป็นได้

จาก 2 กรณีนี้ ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมีมูลเป็นไปได้น่าจะเป็นประเด็นที่ 1 ซึ่งโดยนิสัยแล้ว โลซกเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่น่าจะแกล้งโง่

และความขัดแย้งประเด็นเมืองเกงจิ๋วนั้นก็ยังไม่จบไป เนื่องจากเล่าปี่ก็สามารถเลื่อนไปได้ตลอด จนกระทั่งซุนกวนให้โลซกทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เมืองคืน โลซกจึงออกอุบาย เชิญกวนอูมากินเลี้ยงกันที่ง่อก๊ก และจะขอเมืองคืน ถ้าไม่ให้คืนจะให้ทหารที่ซุ่มอยู่ออกมาสังหารเสีย และเมื่อถึงวันจริง กวนอูก็มาตามที่โลซกเชิญ และมากับทหารไม่กี่คนเท่านั้น ระหว่างกินเลี้ยงอยู่นั้น โลซกก็เอ่ยเรื่องเมืองเกงจิ๋วกับกวนอู กวนอูตอนนั้นเริ่มเมา จึงเฉไฉไป และกวนอูก็ขอตัวกลับเกงจิ๋ว โดยในขณะนั้นทหารก็เตรียมตัวที่จะออกมาฆ่ากวนอู แต่กวนอูถือง้าวคู่ใจ พร้อมจับตัวโลซกไว้ แล้วก็เดินไปกับโลซก (ไม่ได้ทำทีว่าจับเป็นตัวประกัน) ทหารก็ไม่กล้าเข้า เกรงโลซกจะเป็นอันตราย จนกระทั่งโลซกส่งกวนอูขึ้นเรือ และล่องกลับเกงจิ๋ว ทำให้แผน "ล้มเหลว" จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โลซกนั้นยังใจดีกับกวนอู กล่าวคือ โลซกยังให้โอกาสกับกวนอูได้พูดได้คุยได้คืน แต่ถ้าไม่คืนนั้นคือเรื่องของบ้านเมือง
ขงเบ้ง และโลซก (ซ้ายและขวาตามลำดับ)

จากที่วิเคราะห์มาทั้งหมด วิเคราะห์ดีบ้างไม่ดีบ้างขออภัย ก็ทำให้เราเห็นทั้งคุณธรรม และความสามารถของวีรบุรุษ "โลซก" เขามีทั้งความมีน้ำใจ ความสามารถขนาดนี้เขากลับถูกมองว่าโง่ จากที่โดนหลอกโดยคนที่เขาไว้ใจ คนที่เขามองว่าเป็นคนดี คนที่เขาให้การช่วยเหลือเท่านั้น สำหรับผู้เขียน โลซกเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ผู้เขียนประทับใจ และมองว่า เขาเป็นคนเก่งและดีที่หายากคนหนึ่งเลย 

และสุดท้ายการวิเคราะห์ในครั้งนี้ อาจจะไม่ดี หรือดีนั้นอยู่ที่ความคิดของผู้อ่านแล้วล่ะครับ ขอบคุณครับที่สละเวลามาอ่านบทความนี้ หวังว่าจะได้รับความรู้ใหม่ ๆ หรือแนวคิดใหม่ ๆ จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดประการใดในบทความนี้ หรือมีความเห็นแย้ง หรือมีความเห็น ก็แสดงความเห็นได้เต็มที่ครับ ยินดีอย่างยิ่งจะรับฟัง รับอ่าน

*1 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://samkok911.blogspot.com/2012/10/Oh-Shit-Mr.LuSu.html

กว่าจะมาเป็นบทความนี้ต้องขอขอบคุณสามก๊กวิทยา วิกิพีเดีย นามแฝงลูกเสือหมายเลข9 http://www.oknation.net สามก๊กวิว นามแฝง Eagle จากเว็บเด็กดี (พี่ยศไกร) และรายการสาระจากเมืองมังกร ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ


David Ball
 1 - 2 ต.ค. 57

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทำไมต้องเรียนภาษาไทย



ด้วยในปัจจุบันทั้งนักเรียน ทั้งครู หรือใครหลายคนไม่ทราบว่า “ทำไมต้องเรียนวิชาภาษาไทย” สาเหตุที่คำถามนี้ผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของผู้คน ผู้เขียนคาดเดาว่า สาเหตุของมันก็คือ วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่ยาก ทั้งยังมีความซับซ้อนวุ่นวายยากต่อการทำความเข้าใจ และยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ การสื่อสารผ่าน Social Media ก็มีส่วนที่ทำให้มนุษย์ยุคใหม่เริ่มชินชากับการสะกดภาษาไทยแบบผิด ๆ ทั้งโดยเจตนาและโดยไม่เจตนา ดังนั้นพอเราได้เรียนหรือเราได้สอนวิชาภาษาไทย ก็ทำให้วิชาภาษาไทยดูเป็นวิชาที่ยาก ถึงยากมากที่สุด และเกิดความท้อแท้ในการเรียนรู้ และตั้งคำถามว่า "เรียนไปทำไม"

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่า ในความยากแสนยากนั้น เราจะเห็นได้ถึงความง่ายของวิชาภาษาไทย ด้วยเราเองมีพื้นฐานเดิมซึ่งเป็นภาษาพ่อภาษาแม่ ใช้ตั้งแต่เด็ก คุ้นเคยกันดี ดังนั้นหากเราเรียนวิชาภาษาไทย ไม่ใช่เพื่อใช้สอบ หากแต่เรียนไปเพื่อนำไปใช้ให้ถูกต้อง ศึกษาด้วยใจ แล้วเราจะมองเห็นถึงความสละสลวยแห่งภาษา ความวิจิตรบรรจงสร้างสรรค์ภาษา อันเป็นมรดกและเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าของชาติไทยเรา


พ่อขุนรามคำแหง ผู้ประดิษฐ์อักษรไทย
สาเหตุที่เราต้องเรียนภาษาไทยมีมากมายหลากหลาย สาเหตุแรกคือ เราเป็นคนไทย เรามีภาษาไทย ดังนั้นหากเราไม่เรียนภาษาไทย แล้วชนชาติไหนเขาจะเรียน หากเจ้าของเองยังไม่สนใจ แล้วต่างชาติจะสนใจหรือ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาที่ตายตัว หากแต่เป็นภาษาที่สามารถ "บินได้" เปี่ยมไปด้วยอิสระโดยมีกรอบขอบเขตที่เหมาะสม ดังนั้นการเรียนภาษาไทยสาเหตุแรกคือ ภาษาไทยเป็นของไทยนั้นเอง

สาเหตุที่ 2 คือการเข้าสังคม แน่นอนคนทุกคนไม่มีใครสามารถอยู่ลำพังคนเดียวเดี่ยวโดดได้ ต้องมีการคบค้าสมาคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย ดังนั้นการใช้ภาษาไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนในสังคมไทย การใช้ภาษาไทยจึงจะต้องใช้ให้ถูกต้อง ถูกกาลเทศะ มิใช่ใช้ตามอำเภอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากสามารถวางตัวและใช้ภาษาได้อย่างถูกทั้งเวลาและสถานที่ที่ควรจะใช้ให้ถูก ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อตัวของผู้ใช้เอง 
พยัญชนะไทย
สาเหตุที่ 3 ในเมื่อเราเจริญเติบโตที่ประเทศไทย การซึมซับรับเอาภาษาไทย ย่อมฝังลึกในจิตใจเราทุกคนทุกท่าน เพื่อให้เข้าใจง่าย และบทความนี้คนรุ่นใหม่น่าจะได้อ่านกันเยอะ จึงขอเปรียบเทียบกับสิ่งใกล้ตัว กล่าวคือ เมื่อเรามี I – phone แน่นอนเราก็ต้องศึกษาวิธีใช้ที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับความคุ้มค่าจากโทรศัพท์มือถือที่มี อีกทั้งยังสามารถรักษาความคงทนของมันอีกด้วย ภาษาไทยก็เช่นกันในเมื่อเราพอมีพื้นฐานความรู้แล้ว ทำไมเราจึงไม่คิดจะศึกษาและใช้ให้ถูกต้อง คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเสียอย่างนั้น อีกทั้งในปัจจุบันมีความศิวิไลซ์จากชาติตะวันตก ตะวันออก หรือวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาอย่างหลากหลายและรอบด้าน การซึมซับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันก็ย่อมมี ดังนั้นการเรียนวิชาภาษาไทย จึงเป็นเสมือนการปลูกรากแห่งวัฒนธรรมของไทยให้แข็งแรง หากเปรียบประเทศไทยเป็นต้นไม้ ภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ ก็คงจะเป็นส่วนของราก ยิ่งรากแข็งแรง ต้นไม้ก็ยิ่งเจริญงอกงาม การสร้างรากให้เข้มแข็ง สามารถยืนหยัดท่ามกลางพายุที่พัดกระหน่ำมาได้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ภาษาก็เช่นกัน

สาเหตุที่ 4 การที่เราเรียนภาษาไทย แน่นอนอีกเหตุที่สำคัญคือ การสร้างความภาคภูมิใจในมโนสำนึกของคนไทย สิ่งที่ได้รู้ได้รับวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ และมีสิ่งที่เราเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัว ทั้งวรรณกรรม วรรณคดีที่เป็นทั้งร้อยกรอง และร้อยแก้ว อันสละสลวย และกินใจกินความหมายได้อย่างลึกซึ้ง และการศึกษาวรรณกรรม วรรณคดีโบราณ ภาษาที่วรรณกรรมรจนาออกมาเหล่านั้นอาจเป็นคำศัพท์โบราณ  และบริบทของภาษาอาจแตกต่างจากปัจจุบัน การเรียนรู้ภาษาไทยที่ลึกซึ้งขึ้น จึงจะเป็นส่วนช่วยให้เราสามารถเข้าถึงวรรณกรรมเหล่านั้นที่อาจจะซ่อนแนวคิดหรือความเพลินเพลิดเอาไว้ให้เราได้ค้นหาอยู่ก็เป็นได้ 

สาเหตุที่ 5 คล้ายเหตุผลที่ 4 แต่แตกต่างกันที่สาเหตุนี้มีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ ในการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นพงศาวดารก็ดี ศิลาจารึกก็ดี บักทึกต่าง ๆ ก็ดี โดยทั่วไปแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นปฐมภูมิ (หลักฐานร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ) มีความน่าเชื่อถือกว่าหลักฐานอื่น ๆ และหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรย่อมมีความชัดเจนกว่าหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นการอ่านบันทึกต่าง ๆ ย่อมเป็นภาษาที่โบราณ ดังนั้นหากเราไม่ทราบคำศัพท์ต่าง ๆ เราจะทราบสิ่งที่อยู่ในสิ่งเหล่านั้น ๆ ได้หรือ
๒๙ กรกฎาคมของทุกปี วันภาษาไทยแห่งชาติ
ทั้ง 5 เหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเพียงบางประการที่ผู้เขียนอยากจะบอกให้ท่านทราบ โดยยังมีเหตุอีกมากที่ต้องเรียน และขอกล่าวเอาไว้ตรงนี้ว่า บทความนี้อาจจะไม่ใช่บทความที่ดีที่สุด มีข้อบกพร่อง แต่กระนั้นสิ่งทั้งหมดทั้งมวลมานี้ ก็เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็แล้วแต่ความคิดอ่านของแต่ละคนไป สุดท้ายคงต้องขอฝากให้คิดก่อนจะจบกัน ภาษาไทยเป็นของเรา ทำไมเราไม่รัก และไม่รักษ์ภาษาไทย ความคิดของคนมิสามารถปรามได้ แต่ถ้าจะไม่รักษ์ ขอจงหยุด อย่าได้ทำร้ายชาติ ทำร้ายวัฒนธรรมของเราเลย
“...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน  อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...”

พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505

David Ball 
13 มิถุนายน 57
แก้ไขล่าสุด 8 กันยายน 61

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์

สวัสดีครับมิตรรักนักอ่านทุกท่าน พบกับกระผมนักเขียนคนจนอย่าง “ขุนไกรพลพ่าย” อีกแล้วนะครับ หลังจากที่กระผมได้ฝากฝีมือปลายปากกาไว้ในผลงานบทความชิ้นก่อนที่ชื่อว่า “กวนเซิ่ง วีรบุรุษเหลียงซานลูกหลานกวนอู” ซึ่งท่านทั้งหลายคงจะได้ทัศนาผลงานชิ้นนั้นของกระผมไปแล้ว มาบัดนี้ กระผมก็มีโครงการที่จะเขียนบทความเป็นชุดบทความให้มิตรรักนักอ่านทุกท่านได้ติดตามอ่านกันจนหนำใจกันนะขอรับ

สำหรับบทความ “เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์” บทนี้ เป็นหนึ่งในบทความในชุดบทความของผมที่มีชื่อว่า “เดชห้าขุนพลพยัคฆ์ลุ่มน้ำแยงซี” ซึ่งกระผมก็จะขอฝากบทความทั้งชุดไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของมิตรรักนักอ่านทุกท่านนะครับ บัดนี้ ก็เชิญทุกท่าน ติดตามดูเถิดว่า ผมจะดึงอะไรในตัวของขุนพลเทียเภามานำเสนอต่อมิตรรักนักอ่านบ้าง แล้วทำไม ชื่อบทความบทนี้จึงมีชื่อว่า “เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์”  ขอเชิญทุกท่าน ทัศนา...

เทียเภา มีชื่อรองว่า เต๋อโหมว เกิดปีใดไม่ทราบแน่ชัด เป็นชาวตำบลถู่หยิน เมืองโย่วเป่ยผิง (ปัจจุบันคือตำบล เฟิ่งเหริน เมืองถังซาน เหอเป่ย)  เขาเป็นคนปราดเปรื่องทั้งบุ๋นและบู๊ เป็นคนที่ฉลาดหลักแหลมในการวางยุทธวิธีมากมาย และมีฝีมือการให้เพลงอาวุธที่ยอดเยี่ยมหาตัวจับยากอีกผู้หนึ่ง อาวุธที่เขาใช้คือ ทวนอสรพิษร่ายรำ ซึ่งเป็นทวนที่มีใบมีดรูปร่างประหลาดคล้ายงูเลื้อย หรืออาวุธที่มีลักษณะคล้ายๆของเตียวหุยนั่นเอง
   
ความสามารถของเขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนท่านเจ้าเมืองโย่วเป่ยผิงเรียกให้ไปรับราชการด้วย ในตำแหน่งขุนพลนายทหารม้า แต่รับใช้ท่านเจ้าเมืองได้ไม่ถึงห้าปี ท่านเจ้าเมืองก็ป่วยและเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว เจ้าเมืองคนใหม่ที่ราชสำนักส่งมาปกครองเมืองโย่วเป่ยผิงนั้น เป็นคนที่ชอบรับสินบาดคาดสินบน ทั้งเขาและเทียเภาต่างไม่พอใจในอุปนิสัยของฝ่ายตรงข้ามทั้งคู่ ในที่สุด เจ้าเมืองโย่วเป่ยผิงคนใหม่ก็หาเรื่องปลดเทียเภาออกจากราชการ อีกทั้งยัดข้อหาว่าเป็นโจร ต้องโทษเนรเทศไปที่เมืองเตียงสา ซึ่งที่แห่งนั้น เทียเภาจะได้พบคนที่ทำให้ชีวิตเทียเภากลับมารุ่งเรืองได้ เสมือนคนที่ชุบชีวิตเทียเภาให้ฟื้นจากความตาย



เทียเภาเมื่อต้องโทษเนรเทศไปยังเมืองเตียงสา เขาถูกส่งให้ไปทำงานต่าง ๆ นานา จนในที่สุด เขาได้ไปทำงานในบ้านสกุลซุนแห่งเตียงสา และที่นั่น ก็ทำให้เทียเภาได้พบกับเจ้านาย ผู้ซึ่งเป็นเสมือนพยัคฆ์ร้าย ที่หาจอมคนผู้ใดในยุคนั้นเทียบได้ เขาคนนั้นคือ “ซุนเกี๋ยน” พยัคฆ์แห่งกังตั๋งนั่นเอง

ซุนเกี๋ยนผู้นี้ เขาเป็นแม่ทัพแห่งเมืองเตียงสาผู้ทระนง เมื่ออายุสิบหกเขาตามบิดาไปค้าขาย ซุนเกี๋ยนได้พบโจรสลัดกลุ่มหนึ่งกำลังนับทรัพย์สินที่ไปปล้นมาจากพ่อค้าผู้บริสุทธิ์มาได้ ซุนเกี๋ยนจึงถือกระบี่คู่กายกระโดดขึ้นเนิน ควงกระบี่อย่างองอาจพร้อมกับตะโกนเรียกไพร่พลทหารให้มาจับคุมเหล่าโจร พวกโจรเห็นดังนั้นก็ขวัญหนีดีฝ่อ ต่างพากันทิ้งทรัพย์สินและหนีเอาชีวิตรอดกันไป เจ้าเมืองเตียงสาทราบข่าวจึงตั้งเขาเป็นแม่ทัพประจำเมือง เทียเภาได้เจ้านายดีเช่นนี้ มีหรือจะไม่ดีใจ แม้ตอนนั้นเขายังอยู่ในฐานะนักโทษเนรเทศ แต่ก็พยายามทำให้เจ้านายผู้เป็นถึงวีรบุรุษแห่งยุคผู้นี้ เห็นฝีไม้ลายมือ
ครั้งนั้น เกิดกลุ่มโจรกบฏพ่อลูกตระกูลหือ (หรือ สวี ในสำเนียงจีนกลาง) บุกตีเมืองเตียงสา ซุนเกี๋ยนพยัคฆ์ร้ายจึงออกรบตะลุยจัดการพวกโจร ซึ่งเขาก็ขออนุญาตท่านเจ้าเมืองในการนำนักโทษอย่างเทียเภาไปเป็นลูกมือด้วย เทียเภาเองก็เข้าประจัญบานสังหารพวกโจรไปมาก จนท่านเจ้าเมืองเตียงสาเห็นความสามารถ แล้วทำเรื่องขออภัยโทษจากราชสำนัก และได้รับบำเหน็จเป็นขุนพลนายทหารม้าใต้บังคับบัญชาแม่ทัพซุนเกี๋ยน พยัคฆ์ร้ายแห่งกังตั๋ง

ต่อมาไม่นาน ซุนเกี๋ยนถูกสั่งย้ายไปรับราชการที่มณฑลชีจิ๋ว ซึ่งเทียเภาก็ย้ายตามเจ้านายไปด้วย หลังจากนั้นไม่นาน เทียเภาก็ไปพบจอมยุทธ์ยอดฝีมือสามคน คนแรกมีฝีมือในการใช้แส้เหล็กคู่ (แส้เหล็กคู่ เป็นอาวุธจีนโบราณชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายคฑายักษ์ในวรรณคดีไทย) อีกคนหนึ่งมีพละกำลังแขนมาก ถนัดการใช้ง้าวใหญ่ ส่วนคนสุดท้าย ถนัดการใช้ดาบคู่ เทียเภาเห็นว่า ทั้งสามคนล้วนนำมาช่วยงานใหญ่ในแก่เจ้านายได้ จึงนำพวกเขาไปฝากรับราชการกับซุนเกี๋ยน เมื่อไตร่ถามชื่อแซ่กันเสร็จสรรพ จึงรู้ว่า จอมยุทธ์ผู้ใช้แส้เหล้กคู่นามว่าอุยกาย ส่วนจอมพลังที่ใช้ง้าวใหญ่คือฮันต๋ง และผู้กล้าที่ใช้ดาบคู่มีนามว่า โจเมา


เทียเภาได้ควบตะบึงม้า ติดตามซุนเกี๋ยน พยัคฆ์กังตั๋งผู้เป็นเจ้านายไปนานหลายปี จวบจนวาระสุดท้ายของราชันย์พยัคฆ์นั้น เทียเภาก็อาลัยไม่หาย เพราะพยัคฆ์ร้ายผู้นี้แหล่ะ ที่ทำให้เขาเจริญรุ่งเรืองในชีวิตราชการได้จนถึงขั้นที่ใครๆหลายคนในแผ่นดินจีนฮั่นสมัยนั้นไม่อาจเอื้อมถึงได้อยากเขา อาศัยแค่ฝีมือนั้น หากไม่ได้นายดี ก็ไปไม่ถึงดวงดาวได้ ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ซุนเกี๋ยนยังดำรงชีพอยู่ เทียเภาก็จะคอยติดตาม เสมือนหนึ่งเป็นเงาของซุนเกี๋ยน และนี่ก็คือที่มา ของ “เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์”

ขุนไกรพลพ่าย
9 พฤษภาคม 57

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จิวยี่หรือ จะริริษยาขงเบ้ง

บางทีการที่เราอ่านแล้วไม่ตีความอันใดเลย ก็จะทำให้ได้ข้อมูลเพี้ยน ๆ จากการวิเคราะห์ของบุคคล ๆ นั้น และที่จะมาเล่าให้ท่านได้ดูในที่นี้ก็เช่นกัน
ขงเบ้ง จิวยี่จากสามก๊ก 1994
สำหรับจิวยี่และขงเบ้งนั้น ในวรรณกรรมสามก๊กเขาเป็นเสมือนคู่แค้นแสนรักของสามก๊กเลยก็ว่าได้ ซึ่งเขาทั้งสองได้มีโอกาสมามีส่วนร่วมกันเมื่อครั้งสงครามเซ็กเพ็ก ที่โจโฉยกกำลังทหารบุกลงมาหมายปราบปรามเล่าปี่ ซุนกวนให้สิ้นซาก รวมแผ่นดินฮั่นให้เป็นหนึ่ง และในศึกนี้เองทำให้ขงเบ้งกับจิวยี่ต้องมาทำงานร่วมกัน เพื่อสู้โจโฉทัพใหญ่

ซึ่งในศึกนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือสงครามนี้ฝ่ายพันธมิตรซุน-เล่าต้องรบทั้งศึกจากโจโฉ และศึกจากพันธมิตร ก็คือขงเบ้งซึ่งเป็นตัวแทนของเล่าปี่ และจิวยี่ซึ่งเป็นตัวแทนซุนกวน ได้รบกันเองในระหว่างศึก อย่างแนบเนียน คือจิวยี่พยายามหาทางกำจัดขงเบ้งอยู่ตลอด ๆ โดยอ้างให้ไปทำสิ่งต่าง ๆ แต่ขงเบ้งก็ไม่เคยตกหลุมเลย กลับสามารถรอดมาได้ทุกครั้ง และกองทัพของพันธมิตรซุน-เล่ายังได้ประโยชน์อีกด้วย เช่น จิวยี่มอบหมายให้ขงเบ้งไปหาเกาทัณฑ์หนึ่งแสนดอกภายในเวลา 3 วัน และขงเบ้งก็ทำสำเร็จ ทำให้กองทัพได้เกาทัณฑ์เพิ่มอีก
สมรภูมิเซ็กเพ็ก อันเป็นสมรภูมิที่ทำให้ขงเบ้งและจิวยี่ได้ร่วมงานกัน
แต่กระนั้นผู้เขียนก็มิทราบว่าการที่จิวยี่พยายามหาวิธีสังหารขงเบ้งมันเป็นการ “อิจฉา” ตรงไหน แค่พยายามฆ่าคืออิจฉาริษยาหรือ โดยจะขอบอกเหตุผลที่ผู้เขียนวิเคราะห์แล้ว มันไม่ได้เป็นการอิจฉาแต่อย่างใดเลย ขอเชิญท่านลองอ่านความคิดอ่านโง่เขลาของผู้เขียนได้ ณ บัดนี้

1. จิวยี่กับขงเบ้งในสถานะตอนนั้น จิวยี่มีสถานะที่เหนือกว่าขงเบ้ง ตำแหน่ง จิวยี่เป็นถึงแม่ทัพใหญ่ แต่ขงเบ้งเป็นเพียงที่ปรึกษาของเล่าปี่ ซึ่งในเวลานั้นไม่มีหลักมีฐานเลย ไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นเรื่องสถานะจิวยี่ไม่เห็นต้องอิจฉาเลย ขงเบ้งต่างหากที่อาจจะอิจฉา

2. ความมั่นคง ก๊กที่จิวยี่ทำงานอยู่ คือง่อก๊กในเวลานั้นมั่นคงเป็นปึกแผ่น แต่ก๊กที่ขงเบ้งทำงานอยู่ หรืออาจจะไม่สามารถเรียกว่าก๊กก็ได้ เรียกว่ากองทัพพเนจรเลยยังได้ ไม่มีความมั่นคง หนีสงครามมาทั้งสิ้น

3. หน้าตา ในวรรณกรรมก็ระบุชัดว่าจิวยี่หน้าดี แถมมีเสียวเกี้ยว หญิงงามแดนใต้เป็นศรีภรรยาอีก ดังนั้นไม่จำเป็นต้องอิจฉาเรื่องหน้าตาเลย

กล่าวมาสามข้อแล้วก็สามารถสรุปได้ว่า ในด้านสถานะ สถานภาพและสิ่งต่าง ๆ ทุกอย่างของจิวยี่มีแต่เหนือกว่าขงเบ้งทั้งนั้นเลย ไม่เห็นจำเป็นต้องไปอิจฉาใครก็ไม่รู้ อยู่ ๆ ลงจากดอยแล้ว แค่นี้ก็จะอิจฉาแล้วหรือ คงไม่ใช่แล้วกระมัง

4. เหตุผลข้อนี้เป็นเหตุผลที่สำคัญ ในการเถียงว่าจิวยี่ไม่ได้อิจฉาขงเบ้ง กล่าวคือ เมื่อตอนที่ขงเบ้งไปยั่วยุซุนกวน แล้วก็ไปยุจิวยี่ จนกระทั่งสามารถทำให้ฝ่ายง่อก๊กตัดสินใจรบกับโจโฉ และซุนกวนก็ประกาศชัดเจนด้วยการฟันชอบโต๊ะเสีย แต่กระนั้นขงเบ้งก็จับได้ว่าซุนกวนยังคงลังเลใจอยู่ เนื่องจากทัพเล็กกว่ามาก ดังนั้นขงเบ้งจึงไปบอกจิวยี่ให้เกลี่ยกล่อมซุนกวนให้หายลังเล และก็เป็นจริง ทำให้จิวยี่ “ทึ่ง” ในความสามารถของขงเบ้ง จึงอยากจะให้ขงเบ้งมาอยู่ง่อก๊กด้วย จิวยี่จึงส่ง “จูกัดกิ๋น” พี่ชายแท้ ๆ ของขงเบ้ง ซึ่งรับราชการอยู่ง่อก๊กไปเกลี่ยกล่อมขงเบ้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นจิวยี่เห็นว่าขงเบ้งมีปัญญาหลักแหลม จึงเกรงว่าในภายหน้าจะเป็นภัยต่อง่อก๊ก จึงได้พยายามกำจัด เมื่อกล่าวมาจิวยี่อิจฉาตรงไหน

ดังนั้นไม่ว่าจะวรรณกรรม หรือประวัติศาสตร์ก็ไม่เห็นว่าจิวยี่อิจฉาขงเบ้งเลย
เล่าสั้น ๆ มานี้ วิเคราะห์มาตรงนี้แล้ว บทวิเคราะห์นี้ก็ไม่ได้หวังให้ท่านผู้อ่านเชื่อ แต่อยากให้ท่านผู้อ่านวิเคราะห์ต่อเสียมากกว่า ถ้าวิเคราะห์แล้ว เห็นด้วยหรือเห็นต่างก็นับว่าเป็นความประสบความสำเร็จของบทความนี้จริง ๆ คือให้ท่านได้คิดตามแม้จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นบทความนี้จะไม่ทั้งผิด ไม่ทั้งถูกหากแต่เป็นการวิเคราะห์ ความคิดเห็น บทวิจารณ์ของผมเท่านั้น ท่านอาจจะเห็นต่างหรือวิเคราะห์ได้ดีกว่าของผู้เขียนก็เป็นได้

David Ball
4 พฤษภาคม 57

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กงเกวียนกำเกวียนในสามก๊ก


สังคมไทยเรานั้น เป็นสังคมที่พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ ความเชื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งความเชื่อที่มีผลต่อสังคมไทยอย่างมากก็มีหลายหลากความเชื่อ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ กรรม

คำว่ากรรมนั้นก็คือการกระทำ มีทั้งกรรมดี กรรมชั่ว และเราก็มักจะได้ยินสำนวนที่ว่า ถ้าทำดีก็จะได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว หรือสุภาษิตไทยที่ว่า รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา นั้นก็คือความหมายเดียวกัน หรือบางทีอาจจะได้ยินสำนวนที่ว่า กงเกวียนกำเกวียนสำหรับสำนวนนี้มีการใช้ที่ผิดมากมาย แต่ที่ถูกก็คือ กงเกวียนกำเกวียน ซึ่งความหมายก็คือ ทําแก่เขาอย่างไร ตนหรือลูกหลานเป็นต้นของตนก็อาจจะถูกทำในทำนองเดียวกันอย่างนั้นบ้าง ซึ่งความเชื่อนี้ก็ถือว่าเป็นความเชื่อที่ทำให้คนเกรงกลัวต่อการทำชั่ว และยังมีความเชื่อที่ทำให้คนเกรงกลัวต่อบาป การทำชั่วอีกก็จะไปตรงกับความเชื่อเรื่อง กฎแห่งกรรม และ นรก-สวรรค์ นั้นเอง

ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากจะเขียนบทความที่เกี่ยวกับเรื่องของเวรกรรมในสามก๊ก มาลองเปรียบเทียบกันดู โดยจะยึดเอาเนื้อหาของวรรณกรรมเป็นที่ตั้ง ดังนั้นหากข้อมูลวรรณกรรมกับประวัติศาสตร์ไม่ตรงกันก็ขอให้เข้าใจ นำตัวอย่างมาเพื่อเปรียบเทียบ หรือให้ได้เห็นเท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี เรื่องที่จะนำมา อาจจะไม่เกี่ยวกับเวรกรรมก็ได้ แต่ผู้เขียนก็จะขอนำมาเพื่อให้เห็นว่า ทำอย่างไร ได้อย่างนั้นจริง ๆ หากมีข้อผิดพลาดประการใด หรือทำให้ท่านผู้อ่านไม่พอใจก็ขออภัยอย่างสูงครับ คิดซะว่าอ่านเล่น ๆ ก็ยังได้

ขอเริ่มแรกด้วยเรื่องราวของกวนอู สุดยอดทหารเสือแห่งจ๊กก๊ก ผู้เป็นน้องร่วมสาบานกับเล่าปี่ในสวนท้อ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ มีหลายชีวิตที่ต้องคมง้าวของกวนอูจนถึงแก่ความตาย เช่น ฮัวหยง นายด่านที่กวนอูฝ่าเมืองครั้งเหตุการณ์
กวนอูฝ่า 5 ด่าน ฆ่า 6 ขุนพลฯลฯ ซึ่งในท้ายที่สุดกวนอูก็ถูกตัดสินประหารชีวิต กลายเป็นผีหัวขาด แม้เขาจะตายกลายเป็นผีไปแล้ว เขาก็ยังมาราวี ขอหัวตัวเองคืน ซึ่งในคืนหนึ่งผีกวนอูได้มาโหยหวนขอหัวตัวเองคืน ก็มีหลวงจีนท่านหนึ่ง นามว่าเภาเจ๋งซึ่งได้ยินเข้า จึงไปเตือนสติผีกวนอูว่า กวนอูเคยฆ่าขุนพล ตัดหัวคนมามากมาย เขาเคยมาทวงคืนมั้ย ดังนั้นในเมื่อกวนอูตายแล้ว ก็ควรจะไปที่ชอบที่ชอบ ในเมื่ออดีตกวนอูฆ่าคนมามาก แล้วตัวเองก็ถูกประหารชีวิตนั้นก็อาจจะเป็นกรรมตามสนองก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้นั้นมีขุนพลหลายท่านที่ฆ่าเขา เขาฆ่าเราก็มีมากมาย หาใช่กวนอูเพียงคนเดียว แต่ที่มีเรื่องเด่นชัด และมีคำสอนก็เห็นจะเป็นเรื่องราวของกวนอูนี่เอง
หลวงจีนเภาเจ๋งพบวิญญานกวนอู
ขอต่อด้วยเรื่องของขงเบ้ง ยอดกุนซือสมองเพชรแห่งจ๊กก๊ก ซึ่งเคยปั่นหัวจิวยี่จนกระทั่งจิวยี่พิษเก่ากำเริบต้องกระอักเลือด และตายไปในที่สุด ซึ่งเมื่อขงเบ้งเริ่มแก่ตัวลง โรคร้ายก็มารุมเร้า อีกทั้งงานก็หนักด้วยฮ่องเต้ที่ไม่เอาไหนอย่าง อาเต๊าจึงต้องทำงานหนัก สุขภาพเสื่อมโทรมจนกระทั่งกระอักเลือด และตายไปในที่สุด ซึ่งการกระอักเลือดครั้งนี้ อาจเป็นเวรกรรมที่เคยทำกับจิวยี่ไว้ก็เป็นได้


ขงเบ้งและจิวยี่จาก Red Cliff

มาถึงเรื่องที่สาม ขอกล่าวถึงเรื่องของลิโป้ ซึ่งเป็นสุดยอดนักรบ ยอดขุนพลผู้มีฝีมือระดับ เทพเจ้าแห่งสงครามซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าลิโป้มีด้านร้ายคือ โลภ” “เลว” “บ้าผู้หญิง” “อกตัญญูฯลฯ ซึ่งนิสัยที่จะบอกคือเรื่องของการเนรคุณต่อผู้มีคุณ ลิโป้นั้นเป็นคนที่มีฝีมือสูงส่งมาก แต่นิสัยเขานั้นกลับเป็นนิสัยที่ไม่น่าคบเอาเสียเลย กล่าวคือลิโป้นั้นได้รับการอุปการคุณจากเตงหงวน ในฐานะ พ่อ-ลูกบุญธรรม ผู้เป็นขุนนางตงฉินในราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งต่อมาเขาก็ ทรยศเตงหงวน เนื่องจากตั๋งโต๊ะอยากได้ตัว โดยการนำของมีค่า พร้อมม้าอาชาไนย ตัวใหญ่ผิวแดง หรือที่ในภาษาจีนเรียกว่า เซ็กเธาว์ซึ่ง เซ็ก แปลว่า แดง และ เธาว์ แปลว่า กระต่ายก็คือม้ากระต่ายแดงนั้นเอง ซึ่งเปรียบเทียบว่า มีความปราดเปรียวเช่นกระต่าย และมีผิวสีออกแดง และเมื่อลิโป้เห็นทรัพย์สมบัติพัสถานก็โลภขึ้นมา จึงได้ทำการปิตุฆาต สังหารผู้ที่ตนเรียกว่า พ่อเมื่อได้มาอยู่กับตั๋งโต๊ะ ซึ่งเป็นทรราชคนหนึ่งและได้เป็นบุตรบุญธรรมของตั๋งโต๊ะอีก จึงมีคนอยากจะกำจัดให้สิ้นซาก ด้วยการใช้อุบายโดยให้เตียวเสี้ยนเป็นผู้เสี้ยมให้สองคนขาดกัน และสุดท้ายลิโป้ก็รักเตียวเสี้ยน จึงได้ฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย สุดท้ายในช่วงบั้นปลายของลิโป้ เขาก็ถูกลูกน้องของเขาทรยศ ด้วยการจับลิโป้มัดเอาไว้ แล้วเปิดประตูเมืองให้โจโฉ ทำให้ลิโป้แพ้ต่อโจโฉ และถูกประหารในที่สุด
ลิโป้ถูกจับ
มาถึงเรื่องที่สี่ ขอกล่าวถึงเรื่องตั๋งโต๊ะ ซึ่งถูกสาปแช่งทั้งสิบทิศ ดังที่ท่านยาขอบว่า เรื่องราวของเขามีแต่ความโฉดชั่วที่กระทำต่อบ้านเมือง เขาคือนักเผด็จการตัวยงเลยก็ยังว่าได้ เขาทำให้บ้านเมืองเสียหายย่อยยับหลายหลากมากประการ เช่น เผาเมืองราชธานีเดิม สับเปลี่ยนตั้งฮ่องเต้ตามความต้องการของตน ฯลฯ ซึ่งในท้ายที่สุดการตายของเขาก็เป็นการตายที่น่าสมเพชเป็นที่สุด ทั้งถูกลิโป้ บุตรสุดที่รักฆ่า เมื่อตายไปแล้วซากศพก็ยังหาที่ฝังไม่ได้ กล่าวคือ มีลูกน้องที่รักตั๋งโต๊ะก็พยายามจะนำศพตั๋งโต๊ะไปทำตามประเพณี นำไปฝัง ก็ฝังไม่ได้ ฟ้าผ่าลงมาใส่ศพ จนกระทั่งศพเละเทะ แม้แต่ฝังยังฝังมิได้เลย ก็อาจเป็นเพราะเวรกรรมที่เขาทำไว้กับบ้านเมืองได้มากขึ้น

มาถึงเรื่องที่ห้า ขอกล่าวถึงเรื่องของตระกูลโจ ซึ่งได้กระทำต่อฮ่องเต้ของราชวงศ์ฮั่นเอาไว้ กล่าวคือ โจโฉนั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ และเถลิงอำนาจ แรก ๆ เขานั้นกดขี่ข่มเหงฮ่องเต้อย่างมาก แต่ก็ไม่ได้ทำถึงขั้นตั๋งโต๊ะ พกดาบ ไม่ถอดรองเท้า เดินเข้าท้องพระโรงอย่างไม่เกรงใจใคร แต่เขาก็ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น ไม่ได้โค่นล้มราชวงศ์ ทั้งยังปกป้องฮ่องเต้อีกด้วย แต่กระนั้นอำนาจการปกครองที่แท้จริงไม่ใช่ฮ่องเต้ หากแต่เป็นโจโฉต่างหาก ฮ่องเต้ก็เป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้นเอง เมื่อโจโฉเสียชีวิตลงไป โจผีก็ขึ้นแทน ซึ่งโจผีนั้นก็ได้ทำการล้มล้างราชวงศ์ฮั่น ปลดฮ่องเต้ และสถาปนาตนเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์วุย ซึ่งเมื่อโจผีตายไป โจยอยก็ขึ้นแทน เมื่อโจยอยตาย โจฮองก็ขึ้นแทน ซึ่งในยุคของโจฮองนี้เอง ราชวงศ์วุยก็ถูกกระทำเหมือนที่โจโฉและโจผีเคยทำกับฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่นเอาไว้ กล่าวคือ โจฮองกลายเป็นหุ่นเชิด โดยผู้ที่เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็คือบรรดาคนในตระกูลสุมา ซึ่งในท้ายที่สุด ในยุคของโจฮวนก็ถูกสุมาเอี๋ยนโค่นราชบัลลังก์ ราชวงศ์วุยล่มสลายไป ซึ่งเหมือนกับที่ตระกูลโจ ทำกับราชวงศ์ฮั่นไว้ เปะ"

โอกาสนี้ขอทิ้งไว้เพียงนี้ก่อน ไว้โอกาสหน้าจะมาเขียนบทความให้ท่านได้อ่านอีก หากท่านคิดได้อีก ขอเชิญบอกมาได้เลยนะครับ
David Ball
4 พฤษภาคม 57

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กวนเซิ่ง วีรบุรุษเหลียงซานลูกหลานกวนอู


ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะทราบกันดีนะครับว่า เรื่อง สามก๊กเอี้ยนหงี ซึ่งเป็นชื่อในสำเนียงจีนฮกเกี้ยน หรือ ซานกว๋อเยี่ยนยี่ ซึ่งเป็นชื่อเรียกในสำเนียงจีนกลาง แต่ว่า ชื่อที่คนไทยรู้จักกันดีและเรียกชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้กันอย่างชินปากในชื่อว่า “สามก๊ก” นั้น เป็นถึง 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีน ที่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้คัดเลือกแล้วว่า 4 เรื่องนี้ ถือว่าเป็นสุดยอดจริง เป็นเพชรน้ำเอกในวงการวรรณกรรมจีนจริงๆ

แต่กระนั้น ท่านผู้อ่านบางท่านคงไม่ทราบว่า อีก 3 เรื่องที่เหลือ คือเรื่องอะไร ถึงทราบชื่อเรื่อง ก็อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของแต่ละเรื่องมากนักเท่าไร ซึ่งทางผู้เขียนเองก็จะไม่ขอเจาะลึกในอีกสามเรื่องนี้มากนัก เพราะจะเป็นการออกทะเลไปเปล่าๆ แต่ก็จะขอกล่าว ไว้ ณ ที่นี้ ว่า บทความนี้จะกล่าวถึง รอยต่อระหว่าง 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีนชื่อดังอย่างสามก๊กกับ 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีนอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเรื่อง “108  ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน” หรือที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ทำการแปลและชำระความไว้ เป็นสำเนียงจีนฮกเกี้ยน โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ซ้องกั๋ง” นั่นเอง แต่ว่า เรื่องสามก๊ก กับ เรื่อง 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีรอยต่อในจุด ๆไหน ท่านผู้อ่านคงต้องติดตามกันต่อไปนะครับ

วรรณกรรมเรื่อง 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน หรือ 108 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน มีชื่อเรียกภาษาจีนว่า สุ่ยหู่จ้วน หรือมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “water margin” อันมีความหมายว่า ลำนำริมฝั่งน้ำ ประพันธ์โดย ซื่อไหน่อัน และก็ผ่านการแก้ไขโดยปลายปากกาของ หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์สามก๊กมาแล้ว ท้องเรื่องเป็นนวนิยายที่กล่าวถึง เหตุการณ์ในสมัยราชวงศ์ซ่ง รัชสมัยพระจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง วีรบุรุษผู้กล้า 108 คน ซึ่งมีทั้งชายและหญิง ได้ไปรวมตัวกันที่ ทะเลสาบเขาเหลียงซาน ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฐานอำนาจทางการทหาร เพื่อทำการต่อต้านอำนาจรัฐ ที่มีกลุ่มกังฉินคอยปิดบังพระเนตรพระกรรณพระจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง โดยมีผู้ก่อตั้งกองกำลังคือเฉาไก้ ผู้ที่ยุทธภพขนานนามว่า “ราชันย์สวรรค์” แต่ต่อมาเฉาไก้ผู้นี้เสียชีวิตในการรบ ซ่งเจียงจึงขึ้นเป็นประมุขเขาเหลียงซานแทน อันเป็นที่มาของชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้ที่ถูกชำระความในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกเรียกชื่อว่า “ซ้องกั๋ง” เพราะซ้องกั๋ง ก็คือชื่อของหัวหน้าใหญ่โจร “ซ่งเจียง” ในสำเนียงฮกเกี้ยนนั่นเอง ซึ่งบรรดาวรรณกรรมหรือวรรณคดีไทยในยุคเก่าๆ มักจะใช้ชื่อตัวเอกของเรื่องนั้นเป็นชื่อวรรณกรรมเรื่องนั้นไปด้วย อย่างเช่น สังข์ทอง มณีพิชัย อุณรุท เป็นต้น

เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาคร่าวๆ ของวรรณกรรมเรื่อง 108 ผู้กล้าเหลียงซานกันไปแล้ว ก็จะขอกล่าวจุดเชื่อมต่อของวรรณกรรมเรื่องสามก๊กกับ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานนั้น (ต่อจากนี้ไปจะเรียกย่อๆว่า 108 ผู้กล้าฯนะครับ) ก็เป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนจะยกมานำเสนอให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นเกร็ดความรู้ใหม่ ว่าด้วยผู้กล้าเหลียงซานผู้หนึ่ง ที่มีแซ่กวน เหมือนกับกวนอู ยอดขุนพลผู้มีชื่อเสียงในสามก๊กของเรานี่เอง และบุรุษแซ่กวนแห่งเขาเหลียงซานผู้นี้ ก็มีรูปร่างสูงใหญ่องอาจ หน้าแดงดั่งพุทรา หนวดยาว ประดุจว่าเป็นท่านกวนอูกลับชาติมาเกิด เขาผู้นั้น คือ “กวนเซิ่ง” ฉายาว่า จอมยุทธ์ง้าวใหญ่ ,ไอ้มีดโต แล้วแต่สำนวนการแปล 108 ผู้กล้าฯ แต่ละฉบับจะว่าไป ซึ่งในแท่นศิลาศักดิ์สิทธิ์เรียงลำดับผู้กล้าเหลียงซานทั้ง 108 คน ระบุว่าเขาเป็นดาววีระมาจุติ และเขาเป็นผู้กล้าอาวุโสลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 108 นาย
ประวัติของ จอมยุทธ์ง้าวใหญ่ กวนเซิ่ง
ดาววีระ จอมยุทธ์ง้าวใหญ่ กวนเซิ่ง
กวนเซิ่ง เป็นบุรุษผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ องอาจ สูงแปดฉื่อ หน้าแดงดั่งพุทรา หนวดเครายาว ชอบสวมใส่อาภรณ์และหมวกสีเขียว ชนทั่วไปต่างยกย่องว่าเขาประดุจกวนกง (เทพเจ้ากวนอู) กลับชาติมาเกิด

ต่อมาสอบเข้ารับราชการเป็นนายทหารติด ได้เป็นขุนพลเมืองผู่ตง เขาจึงให้นายช่างเหล็กตีอาวุธเป็นง้าวใหญ่คล้ายง้าวมังกรจันทร์ฉายของท่านกวนอู ต่อมาได้สาบานเป็นพี่น้องกับนายทหารผู่ตงผู้หนึ่ง นามว่า “ห่าวซือเหวิน” ผู้มีฉายาว่า ดาวหมาป่าพิฆาต เพราะตอนที่มารดาของห่าวซือเหวินตั้งครรภ์เขานั้น นางได้ฝันว่าได้กลืนกินดาวหมาป่าเข้าไป เมื่อห่าวซือเหวินคลอดจึงได้รับฉายานี้ และด้วยความที่กวนเซิ่งอายุมากกว่าห่าวซือเหวิน 5 ปี จึงได้เป็นพี่ ส่วนห่าวซือเหวินเป็นน้อง

ในช่วงเวลายุคสมัยนั้น เกิดก๊กโจรกบฏมากมาย นายทหารม้าหลวงชื่อ “เซวียนจ้าน” ผู้มีฉายาว่า “ราชบุตรเขยจอมอัปลัษณ์” ที่ได้ฉายานี้เพราะว่า เขาเคยรบชนะทหารฮวนต่อเนื่องหลายศึก จนเจ้าฮวนอ๋องจะยกพระธิดาให้แต่งงานด้วย แต่พระธิดาเห็นว่าเขาอัปลักษณ์ จึงชิงฆ่าตัวตาย ถึงเซวียนจ้านจะอัปลักษณ์แต่ก็มากความสามารถ เขาอาสาฮ่องเต้พระเจ้าแผ่นดินซ่งไปรบกับพวกเขาเหลียงซาน แต่เขาขอให้ฮ่องเต้ตั้งกวนเซิ่งขุนพลใหญ่เมืองผู่ตงเป็นแม่ทัพใหญ่ในทัพนั้น ส่วนเขาขอเพียงแค่ติดตามกวนเซิ่งก็พอ เพราะเขาได้ยินกิตติศัพท์ว่ากวนเซิ่งผู้นี้เก่งกาจ อีกทั้งเป็นลูกหลานของกวนกง พวกโจรคงจะยำเกรง

เมื่อฮ่องเต้ทรงอนุมัติตามคำขอของเซวียนจ้าน ทรงให้กวนเซิ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปตีเขาเหลียงซาน กวนเซิ่งจึงขอให้นำห่าวซือเหวินน้องร่วมสาบานไปด้วย และในการยกทัพครั้งนี้ ทำให้ยอดขุนพลผู้กล้าทั้งสามสนิทสนมกันมาก ซึ่งจิตรกรในยุคสมัยต่อมา มักจะวาดภาพกวนเซิ่งไว้ควบคู่กับเซวียนจ้านและห่าวซือเหวิน และอีกนัยน์หนึ่งนั้น หากกวนเซิ่งเป็นตัวแทนของกวนอูเพราะมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน เซวียนจ้านก็เป็นตัวแทนของจิวฉอง เพราะมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงเช่นกัน และห่าวซือเหวินก็เป็นตัวแทนของเลียวฮัว เพราะจิตรกรท่านมักจะวาดห่าวซือเหวินในรูปลักษณ์ของชายฉกรรจ์หนวดเคราครึ้มคล้ายเลียวฮัว มากกว่าวาดเป็นชายหน้าขาวเกลี้ยงเกลาดั่งกวนเป๋ง

ต่อมา ด้วยอุบายของพวกฝ่ายเขาเหลียงซาน ทำให้ทั้ง กวนเซิ่ง เซวียนจ้าน และห่าวซือเหวิน เสียทีถูกพวกเขาจับตัวได้ แต่ซ่งเจียงหัวหน้าใหญ่ ก็ใช้น้ำใจและคุณธรรมของผู้กล้า พิชิตใจทั้งสามเสียอยู่หมัด และทั้งสามก็ภักดีต่อฝ่ายเขาเหลียงซาน รอวันที่ราชสำนักจะอภัยโทษให้

แต่เมื่อวันนั้นมาถึง ราชสำนักกลับหลอกใช้ฝ่ายเขาเหลียงซานไปรบกับทัพต่าง ๆ ทั้ง ทัพเมืองต้าเหลียว ทัพเถียนหู่ที่เป็นกบฏอยู่เหอเป่ย ทัพหวังชิ่งที่เป้นกบฏอยู่หว่ายซี และทัพฟางล่าที่เป็นกบฏก๊กเจียงหนาน ซึ่งทั้งเซวียนจ้าน และห่าวซือเหวิน ล้วนสละชีวิตเพื่อแผ่นดินในศึกฟางล่าทั้งคู่ ทิ้งให้กวนเซิ่งต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว


แม้นกวนเซิ่งจะรอดชีวิตจากศึกอันโหดร้ายครั้งนั้นมา และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเมืองปักกิ่ง แต่เขาก็โศกเศร้าไม่น้อยที่ต้องจากพี่น้องผู้กล้าทั้งหลาย โดยเฉพาะเซวียนจ้านกับห่าวซือเหวินที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาก่อนผู้กล้าคนอื่นๆ มาวันหนึ่ง เขาไปดื่มเหล้าฉลองกับเพื่อนนายทหารเมืองปักกิ่งด้วยกัน ถึงเขาจะมียศสูงกว่าคนอื่น แต่ผู้กล้าอย่างกวนเซิ่งก็ไม่เคยถือเนื้อถือตัว เมื่อเขาจะกลับบ้านพัก เขาโดดขึ้นม้าคู่ใจและควบตะบึงไป ด้วยฤทธิ์สุราทำให้เขาควบม้าเร็วดั่งลมกรดอย่างคึกคะนอง ทันใดนั้นเอง ร่างเงาสองสายก็มาขวางทางวิ่งของม้าเขา กวนเซิ่งจึงชักม้าให้หยุด ทันใดนั้นเอง เขาพิจารณาดู กลับพบว่า บุรุษทั้งสองที่มาขวางทางเขาไว้ คือ เซวียนจ้าน และห่าวซือเหวินผู้ล่วงลับไปในศึกฟางล่า เขาตกใจมาก ห่าวซือเหวินจึงพูดอย่างช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงของวิญญาณไร้ชีวิตว่า

“อีกไม่นานพี่ก็จะได้มาอยู่กับเราและพี่น้องผู้กล้าคนอื่น ๆ แล้ว”

กวนเซิ่งเมื่อได้ยินก็ตกใจ รีบควบม้าหันกลับแล้วหนีไปทางอื่น แต่ควบไปได้ไม่ไกล เขาก็มีความรู้สึกไม่รู้สึกอะไรอยู่พักเดียว ร่างของเขาหงายร่วงลงจากหลังม้า ศีรษะฟาดกระแทกกับพื้น เลือดนองอาบไปทั่ว และนั่น ก็คือวาระสุดท้ายของยอดขุนพลพยัคฆ์แห่งเขาเหลียงซาน เมื่อเขาตายลง ชนทั้งหลายต่างเชื่อว่า วิญญาณของเขาได้ไปรวมตัวกับวิญญาณผู้กล้าท่านอื่น ๆ และในวันที่ผู้กล้าทั้ง 108 เสียชีวิตกันแทบทุกคนแล้ว วิญญาณเหล่านั้นล้วนไปเข้าฝันร้องเรียนพระเจ้าซ่งฮุ่ยจงถึงความอยุติธรรมที่ได้รับในชีวิตราชการ เมื่อพระองค์ทรงตื่นจากพระสุบิน ทรงร้องไห้อาลัยเหล่าผู้กล้าทั้งหลาย และทรงตรัสถึงกวนเซิ่งด้วยว่า
“เราเสียดายฝีมือของกวนเซิ่งที่เปรียบประหนึ่งกวนกงมาจุติ แต่เขากลับไม่ได้อยู่รับใช้แผ่นดินของเรา”
และตำนานของเหล่าผู้กล้าทั้ง 108 คน รวมถึงผู้กล้าสกุลกวนอย่างกวนเซิ่ง ก็จบลงเพียงเท่านี้ แม้จะเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ แต่วีรกรรรม ความกล้าหาญ คุณธรรม และความเสียสละเพื่อแผ่นดินของพวกเขา จะยังคงถูกจดจำตลอดไป ให้ลูกหลานทุกคน รู้จักที่จะมีอุดมการณ์ในการเสียสละเพื่อแผ่นดิน รักชาติ จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมใจคนทั้งชาติ และไม่ยอมสิโรราบต่ออำนาจชั่วทั้งมวล

ขุนไกรพลพ่าย
3 พฤภาคม57

*เป็นแอดมินในเพจอีกคนครับ ในเพจมีสองแอดมิน แต่ใช้บล็อกเดียวกัน

ข้อคิดจากอิเหลง

ในประวัติศาสตร์แทบทุกชาติ ล้วนมีข้อคิดให้ได้คิดกัน ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นก็คือการศึกษาอดีต พัฒนาปัจจุบัน รู้ทันอนาคต และตัวอย่างที่จะมาเตือนใจท่านทั้งหลายก็คือเรื่องของการขาดสติและความประมาท
ในสามก๊กก็เช่นกัน ซึ่งสามก๊กเป็นยุคประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ชัดเจน ดังนั้นก็แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้แปลว่าเหตุการณ์ในวรรณกรรมจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไปเสียหมด
มนุษย์ทุกคนมีกิเลสตัณหาอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะเราก็ไม่ใช่อรหันต์สักหน่อย เล่าปี่ก็คือบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ดังนั้นเขาก็มีราคะ โลภะ โมหะ โทสะฝังอยู่ในใจของเขาด้วยเช่นกัน และในบทความนี้จะยกตัวอย่างการที่โทสะกลืนกินจิตใจในตัวไปช่วงระยะที่อาจจะส่งผลไปตลอดกาลก็เป็นได้ โดยยกตัวอย่างในสามก๊กที่เล่าปี่มีโทสะจนขาดสติ ทั้งยังประมาทอีกส่งผลร้ายอีกมากมาย เชิญอ่านได้ ณ บัดนี้

ในเหตุการณ์นี้ก็คือเหตุการณ์ที่เล่าปี่ยกทัพไปบุกง่อก๊กเพื่อล้างแค้นให้กวนอู หรือในชื่อ ศึกอิเหลงโดยฉนวนเหตุของศึกนี้คือการขัดแย้งเรื่องดินแดนเมืองเกงจิ๋วของจ๊กก๊ก (ก๊กของเล่าปี่) กับง่อก๊ก (ก๊กของซุนกวน) ที่ขัดแย้งกัน เพื่อดินแดนเมืองเกงจิ๋วซึ่งเป็นเมืองที่เป็นชัยภูมิและเป็นที่หมายตาของผู้นำก๊กแต่ละก๊กด้วย

ซึ่งหลังจากสงครามผาแดงหรือ เซ็กเพ็กจบลงด้วยความปราชัยของโจโฉนั้นเอง เล่าปี่กับซุนกวนก็เริ่มจะขัดแย้งกันเรื่องเกงจิ๋ว โดยเล่าปี่นั้นได้ทำการ ขอยืมเมืองเกงจิ๋วจากซุนกวนเพื่อตั้งตัว และเมื่อจบศึกผาแดง ซุนกวนก็ทำการทวงคืนจากเล่าปี่หลายต่อหลายครั้ง โดยให้โลซกเป็นทูตในการเจรจาแต่โดยดี แต่ด้วยการเจรจาแบบสันติวิธีเล่าปี่กับขงเบ้งก็ผัดผ่อนอย่างนี้อย่างนั้นมาโดยตลอด ทำให้ซุนกวนไม่ค่อยจะพอใจนัก แต่ก็ยังใช้วิธีการเจรจาโดยสันติตลอด
 

จนกระทั่งเล่าปี่สามารถบุกเบิกอำนาจของตนไปที่ เสฉวนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีภูเขาสูงเป็นปราการในการรับศึก หากข้าศึกจะเข้าจะต้องเดินทางที่ทรหด เต็มไปด้วยอันตรายภัยพาลมากมาย เดิน ๆ อยู่อาจจะเห็นมัจจุราชคอยกวักมือเรียกก็เป็นได้ ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับนักเดินทางหลายท่านที่เข้าไปในเสฉวน เขาก็บอกเป็นเสียงเดียวว่าลำบาก แล้วผู้อ่านลองจินตนาการกันดูว่าในปัจจุบันเขายังบอกว่าลำบากเลย ถึงแม้จะมีพาหนะก็ตามที แต่ถ้าย้อนไป 1,800 ปีแล้ว พาหนะถนนหนทางก็ยังไม่เท่าสมัยนี้ ก็ลองคิดกันดูนะครับ ว่าจะลำบากขนาดไหน หากต้องเดินทางในสมัยนั้น

แต่ก่อนที่เล่าปี่จะนำทัพไปบุกเสฉวนนั้นได้มอบหมายให้กวนอู ขงเบ้ง เตียวหุย จูล่งอยู่รักษาเมืองเกงจิ๋วเพราะเกรงว่าซุนกวนจะนำกำลังมาบุกยึด แต่... บังทอง กุนซือที่ไปกับเล่าปี่เพื่อให้คำปรึกษา เกิดเคราะห์กรรมดับอนาถคาเนินหงส์ร่วงไป ทำให้เล่าปี่ต้องเรียกขงเบ้ง จูล่ง เตียวหุยมาช่วยในการจะยึดเสฉวน ดังนั้นก็จะเหลือ กวนอู เพียงผู้เดียวที่รักษาเกงจิ๋ว

 
ด้วยกวนอูมีนิสัยด้านร้ายของเขาคือ “ความหยิ่งทรนง” ดังนั้นเมื่อซุนกวนส่งคนมาเจรจาทวงเกงจิ๋วก็จะถูกด่าบ้าง ถูกขับไล่แบบไม่ไว้หน้าบ้าง ทำให้ซุนกวนไม่พอใจเป็นอย่างมาก ตัดสินมีคำสั่งให้ลิบองนำกำลังไปเอาเกงจิ๋วคืนมา

ลิบองจึงใช้อุบายและได้เกงจิ๋วคืนอีกทั้งยังได้ “ของแถม” คือสามารถจับเป็นตัวกวนอูได้ด้วย


เมื่อได้ตัวกวนอูมาแล้วซุนกวนเห็นว่ากวนอูนั้นเป็นผู้ชาญการรณรงค์ พิชัยสงครามจึงอยากได้ตัวกวนอู จึงเกลี่ยมกล่อมหว่านล้อมกวนอู แต่หาได้ซื้อใจกวนอูได้ไม่ ซุนกวนจึงสั่งประหารชีวิตกวนอูไปในที่สุด

เมื่อกวนอูกลายเป็นผีไปแล้ว เล่าปี่ทราบข่าวก็โกรธมี โทสะจนกระทั่งเป็นลม และจะนำทัพไปบุกล้างแค้นซุนกวน

รูปปั้นเล่าปี่
แต่ขงเบ้งและขุนนางในเสฉวนต่างก็ทัดทานเล่าปี่ เนื่องจากเห็นว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว เล่าปี่จะต้องเป็นมิตรกับซุนกวนเพื่อต่อสู้โจโฉ แต่เล่าปี่ก็หาได้เชื่อไม่ ก็ด้วยคิดจะล้างแค้น ไม่นานนักเตียวหุยก็มาถูกฆ่าตัดคอโดยฮอมเกียง เตียวตัดสองทหารผู้ใกล้ชิดกับเตียวหุย เพราะถูกเตียวหุยขู่เข็ญว่าต้องหาธงขาวมาภายใน 3 วันให้พอกับทัพ เพื่อจะยกทัพไปบุกง่อก๊ก แต่ธงขาวให้พอกับทัพมากมายนั้นหากจะหาภายใน 3 วันนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก  ฮอมเกียง เตียวตัดเห็นว่าถึงอย่างไรแล้วก็หาธงขาวไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนดแน่นอน ก็จะถูกสั่งประหารชีวิต ทั้งสองจึงชิงลอบไปฆ่าเตียวหุย ตัดหัวไปสวามิภักดิ์กับซุนกวน

เมื่อเล่าปี่ทราบเรื่องก็เสียใจและยิ่งแค้นซุนกวนเป็นเท่าทวี กรีฑาทัพ 75 หมื่น หรือราว 750,000 คนไปบุกง่อก๊ก

และได้รับชัยชนะมาโดยตลอดจนกระทั่งซุนกวนส่ง ลกซุนปราชญ์หนุ่มผู้ชำนาญพิชัยสงครามมาสู้รบตบมือกับเล่าปี่ เนื่องด้วยลกซุนนั้นมีอายุที่น้อย อายุของเล่าปี่กับลกซุนห่างกันพอจะเป็นพ่อลูกกันได้เลยทีเดียว จึงทำให้เล่าปี่ดูหมิ่นดูแคลนว่ายังเยาว์วัย ไร้ประสบการณ์ จะมารบกันคงจะยาก เล่าปี่ก็ประมาทในฝีมือการบัญชาการของลกซุน

ด้วยความประมาทของเล่าปี่ เล่าปี่เห็นว่าทหารเดินทางเหนื่อยอ่อนจึงไปตั้งค่ายใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งตามหลักพิชัยสงครามเป็นสิ่งต้องห้ามในการตั้งค่าย เพราะถ้าศัตรูโจมตีด้วยไฟ ก็จะเสียหายยับย่อย และในที่สุดเล่าปี่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่ลกซุน ด้วยวิธีการเผาค่ายในเวลากลางคืน ทัพ 75 หมื่นที่ยกไปง่อก๊กนั้น เหลือกลับมาได้ไม่ถึงครึ่งเนื่องด้วยถูกเพลิงอัคคีเผาจนมอดไหม้เป็นธุลีไป

ทำให้เล่าปี่ต้องหนีหัวซุกหัวซนและไม่กล้ากลับไปยังเสฉวนเพราะอายต่อขุนนาง จึงไปพำนักที่เมือง เป๊กเต้เสีย และก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาในเมืองนั้น

เล่าปี่สั่งเสียขงเบ้งก่อนตาย
และนี่ก็คือเนื้อเรื่องคร่าว ๆ กระชับ ๆ หากท่านผู้อ่านได้อ่านแล้วก็คงจะได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตเรื่องของ “ความประมาท” “ความโกรธจนขาดสติ”

ดังนั้นตัวอย่างจากประวัติศาสตร์สามก๊กว่าด้วยเรื่องของความประมาท การขาดสตินั้นก็มีให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนแล้วว่า ถ้าหากคุณขาดสติ มีความประมาทการใหญ่หรือจุดหมายที่คุณประสงค์ให้มันเป็นไปตามที่คุณต้องการอาจจะเสียหาย หรือพังพินาศเลยก็ยังได้ ตัวอย่างก็คือเล่าปี่แพ้ศึกอิเหลงที่ทั้งกำลัง ขวัญกำลังใจของทหารก็ดีกว่าฝ่ายง่อก๊กมาก แต่ด้วยเล่าปี่ประมาทจึงหละหลวมในการรบ เปิดช่องให้ลกซุนหาจุดอ่อนและจี้จุดอ่อน จนกระทั่งแพ้ไปในที่สุด หรือเราอาจจะกล่าวได้ว่าการแพ้ครั้งนี้ของทัพจ๊ก เป็นการแพ้ภัยตนเองเลยก็ยังว่าได้

ก่อนจบนั้นขอนำความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสเอาไว้ก่อนปรินิพพาน หรือ “ปัจฉิมโอวาท” ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

David Ball

3 พฤษภาคม 57