วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทำไมต้องเรียนภาษาไทย



ด้วยในปัจจุบันทั้งนักเรียน ทั้งครู หรือใครหลายคนไม่ทราบว่า “ทำไมต้องเรียนวิชาภาษาไทย” สาเหตุที่คำถามนี้ผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของผู้คน ผู้เขียนคาดเดาว่า สาเหตุของมันก็คือ วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่ยาก ทั้งยังมีความซับซ้อนวุ่นวายยากต่อการทำความเข้าใจ และยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ การสื่อสารผ่าน Social Media ก็มีส่วนที่ทำให้มนุษย์ยุคใหม่เริ่มชินชากับการสะกดภาษาไทยแบบผิด ๆ ทั้งโดยเจตนาและโดยไม่เจตนา ดังนั้นพอเราได้เรียนหรือเราได้สอนวิชาภาษาไทย ก็ทำให้วิชาภาษาไทยดูเป็นวิชาที่ยาก ถึงยากมากที่สุด และเกิดความท้อแท้ในการเรียนรู้ และตั้งคำถามว่า "เรียนไปทำไม"

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่า ในความยากแสนยากนั้น เราจะเห็นได้ถึงความง่ายของวิชาภาษาไทย ด้วยเราเองมีพื้นฐานเดิมซึ่งเป็นภาษาพ่อภาษาแม่ ใช้ตั้งแต่เด็ก คุ้นเคยกันดี ดังนั้นหากเราเรียนวิชาภาษาไทย ไม่ใช่เพื่อใช้สอบ หากแต่เรียนไปเพื่อนำไปใช้ให้ถูกต้อง ศึกษาด้วยใจ แล้วเราจะมองเห็นถึงความสละสลวยแห่งภาษา ความวิจิตรบรรจงสร้างสรรค์ภาษา อันเป็นมรดกและเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าของชาติไทยเรา


พ่อขุนรามคำแหง ผู้ประดิษฐ์อักษรไทย
สาเหตุที่เราต้องเรียนภาษาไทยมีมากมายหลากหลาย สาเหตุแรกคือ เราเป็นคนไทย เรามีภาษาไทย ดังนั้นหากเราไม่เรียนภาษาไทย แล้วชนชาติไหนเขาจะเรียน หากเจ้าของเองยังไม่สนใจ แล้วต่างชาติจะสนใจหรือ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาที่ตายตัว หากแต่เป็นภาษาที่สามารถ "บินได้" เปี่ยมไปด้วยอิสระโดยมีกรอบขอบเขตที่เหมาะสม ดังนั้นการเรียนภาษาไทยสาเหตุแรกคือ ภาษาไทยเป็นของไทยนั้นเอง

สาเหตุที่ 2 คือการเข้าสังคม แน่นอนคนทุกคนไม่มีใครสามารถอยู่ลำพังคนเดียวเดี่ยวโดดได้ ต้องมีการคบค้าสมาคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย ดังนั้นการใช้ภาษาไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนในสังคมไทย การใช้ภาษาไทยจึงจะต้องใช้ให้ถูกต้อง ถูกกาลเทศะ มิใช่ใช้ตามอำเภอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากสามารถวางตัวและใช้ภาษาได้อย่างถูกทั้งเวลาและสถานที่ที่ควรจะใช้ให้ถูก ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อตัวของผู้ใช้เอง 
พยัญชนะไทย
สาเหตุที่ 3 ในเมื่อเราเจริญเติบโตที่ประเทศไทย การซึมซับรับเอาภาษาไทย ย่อมฝังลึกในจิตใจเราทุกคนทุกท่าน เพื่อให้เข้าใจง่าย และบทความนี้คนรุ่นใหม่น่าจะได้อ่านกันเยอะ จึงขอเปรียบเทียบกับสิ่งใกล้ตัว กล่าวคือ เมื่อเรามี I – phone แน่นอนเราก็ต้องศึกษาวิธีใช้ที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับความคุ้มค่าจากโทรศัพท์มือถือที่มี อีกทั้งยังสามารถรักษาความคงทนของมันอีกด้วย ภาษาไทยก็เช่นกันในเมื่อเราพอมีพื้นฐานความรู้แล้ว ทำไมเราจึงไม่คิดจะศึกษาและใช้ให้ถูกต้อง คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเสียอย่างนั้น อีกทั้งในปัจจุบันมีความศิวิไลซ์จากชาติตะวันตก ตะวันออก หรือวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาอย่างหลากหลายและรอบด้าน การซึมซับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันก็ย่อมมี ดังนั้นการเรียนวิชาภาษาไทย จึงเป็นเสมือนการปลูกรากแห่งวัฒนธรรมของไทยให้แข็งแรง หากเปรียบประเทศไทยเป็นต้นไม้ ภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ ก็คงจะเป็นส่วนของราก ยิ่งรากแข็งแรง ต้นไม้ก็ยิ่งเจริญงอกงาม การสร้างรากให้เข้มแข็ง สามารถยืนหยัดท่ามกลางพายุที่พัดกระหน่ำมาได้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ภาษาก็เช่นกัน

สาเหตุที่ 4 การที่เราเรียนภาษาไทย แน่นอนอีกเหตุที่สำคัญคือ การสร้างความภาคภูมิใจในมโนสำนึกของคนไทย สิ่งที่ได้รู้ได้รับวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ และมีสิ่งที่เราเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัว ทั้งวรรณกรรม วรรณคดีที่เป็นทั้งร้อยกรอง และร้อยแก้ว อันสละสลวย และกินใจกินความหมายได้อย่างลึกซึ้ง และการศึกษาวรรณกรรม วรรณคดีโบราณ ภาษาที่วรรณกรรมรจนาออกมาเหล่านั้นอาจเป็นคำศัพท์โบราณ  และบริบทของภาษาอาจแตกต่างจากปัจจุบัน การเรียนรู้ภาษาไทยที่ลึกซึ้งขึ้น จึงจะเป็นส่วนช่วยให้เราสามารถเข้าถึงวรรณกรรมเหล่านั้นที่อาจจะซ่อนแนวคิดหรือความเพลินเพลิดเอาไว้ให้เราได้ค้นหาอยู่ก็เป็นได้ 

สาเหตุที่ 5 คล้ายเหตุผลที่ 4 แต่แตกต่างกันที่สาเหตุนี้มีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ ในการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นพงศาวดารก็ดี ศิลาจารึกก็ดี บักทึกต่าง ๆ ก็ดี โดยทั่วไปแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นปฐมภูมิ (หลักฐานร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ) มีความน่าเชื่อถือกว่าหลักฐานอื่น ๆ และหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรย่อมมีความชัดเจนกว่าหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นการอ่านบันทึกต่าง ๆ ย่อมเป็นภาษาที่โบราณ ดังนั้นหากเราไม่ทราบคำศัพท์ต่าง ๆ เราจะทราบสิ่งที่อยู่ในสิ่งเหล่านั้น ๆ ได้หรือ
๒๙ กรกฎาคมของทุกปี วันภาษาไทยแห่งชาติ
ทั้ง 5 เหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเพียงบางประการที่ผู้เขียนอยากจะบอกให้ท่านทราบ โดยยังมีเหตุอีกมากที่ต้องเรียน และขอกล่าวเอาไว้ตรงนี้ว่า บทความนี้อาจจะไม่ใช่บทความที่ดีที่สุด มีข้อบกพร่อง แต่กระนั้นสิ่งทั้งหมดทั้งมวลมานี้ ก็เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็แล้วแต่ความคิดอ่านของแต่ละคนไป สุดท้ายคงต้องขอฝากให้คิดก่อนจะจบกัน ภาษาไทยเป็นของเรา ทำไมเราไม่รัก และไม่รักษ์ภาษาไทย ความคิดของคนมิสามารถปรามได้ แต่ถ้าจะไม่รักษ์ ขอจงหยุด อย่าได้ทำร้ายชาติ ทำร้ายวัฒนธรรมของเราเลย
“...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน  อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...”

พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505

David Ball 
13 มิถุนายน 57
แก้ไขล่าสุด 8 กันยายน 61