วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กวนเซิ่ง วีรบุรุษเหลียงซานลูกหลานกวนอู


ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะทราบกันดีนะครับว่า เรื่อง สามก๊กเอี้ยนหงี ซึ่งเป็นชื่อในสำเนียงจีนฮกเกี้ยน หรือ ซานกว๋อเยี่ยนยี่ ซึ่งเป็นชื่อเรียกในสำเนียงจีนกลาง แต่ว่า ชื่อที่คนไทยรู้จักกันดีและเรียกชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้กันอย่างชินปากในชื่อว่า “สามก๊ก” นั้น เป็นถึง 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีน ที่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้คัดเลือกแล้วว่า 4 เรื่องนี้ ถือว่าเป็นสุดยอดจริง เป็นเพชรน้ำเอกในวงการวรรณกรรมจีนจริงๆ

แต่กระนั้น ท่านผู้อ่านบางท่านคงไม่ทราบว่า อีก 3 เรื่องที่เหลือ คือเรื่องอะไร ถึงทราบชื่อเรื่อง ก็อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของแต่ละเรื่องมากนักเท่าไร ซึ่งทางผู้เขียนเองก็จะไม่ขอเจาะลึกในอีกสามเรื่องนี้มากนัก เพราะจะเป็นการออกทะเลไปเปล่าๆ แต่ก็จะขอกล่าว ไว้ ณ ที่นี้ ว่า บทความนี้จะกล่าวถึง รอยต่อระหว่าง 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีนชื่อดังอย่างสามก๊กกับ 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีนอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเรื่อง “108  ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน” หรือที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ทำการแปลและชำระความไว้ เป็นสำเนียงจีนฮกเกี้ยน โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ซ้องกั๋ง” นั่นเอง แต่ว่า เรื่องสามก๊ก กับ เรื่อง 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีรอยต่อในจุด ๆไหน ท่านผู้อ่านคงต้องติดตามกันต่อไปนะครับ

วรรณกรรมเรื่อง 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน หรือ 108 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน มีชื่อเรียกภาษาจีนว่า สุ่ยหู่จ้วน หรือมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “water margin” อันมีความหมายว่า ลำนำริมฝั่งน้ำ ประพันธ์โดย ซื่อไหน่อัน และก็ผ่านการแก้ไขโดยปลายปากกาของ หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์สามก๊กมาแล้ว ท้องเรื่องเป็นนวนิยายที่กล่าวถึง เหตุการณ์ในสมัยราชวงศ์ซ่ง รัชสมัยพระจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง วีรบุรุษผู้กล้า 108 คน ซึ่งมีทั้งชายและหญิง ได้ไปรวมตัวกันที่ ทะเลสาบเขาเหลียงซาน ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฐานอำนาจทางการทหาร เพื่อทำการต่อต้านอำนาจรัฐ ที่มีกลุ่มกังฉินคอยปิดบังพระเนตรพระกรรณพระจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง โดยมีผู้ก่อตั้งกองกำลังคือเฉาไก้ ผู้ที่ยุทธภพขนานนามว่า “ราชันย์สวรรค์” แต่ต่อมาเฉาไก้ผู้นี้เสียชีวิตในการรบ ซ่งเจียงจึงขึ้นเป็นประมุขเขาเหลียงซานแทน อันเป็นที่มาของชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้ที่ถูกชำระความในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกเรียกชื่อว่า “ซ้องกั๋ง” เพราะซ้องกั๋ง ก็คือชื่อของหัวหน้าใหญ่โจร “ซ่งเจียง” ในสำเนียงฮกเกี้ยนนั่นเอง ซึ่งบรรดาวรรณกรรมหรือวรรณคดีไทยในยุคเก่าๆ มักจะใช้ชื่อตัวเอกของเรื่องนั้นเป็นชื่อวรรณกรรมเรื่องนั้นไปด้วย อย่างเช่น สังข์ทอง มณีพิชัย อุณรุท เป็นต้น

เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาคร่าวๆ ของวรรณกรรมเรื่อง 108 ผู้กล้าเหลียงซานกันไปแล้ว ก็จะขอกล่าวจุดเชื่อมต่อของวรรณกรรมเรื่องสามก๊กกับ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานนั้น (ต่อจากนี้ไปจะเรียกย่อๆว่า 108 ผู้กล้าฯนะครับ) ก็เป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนจะยกมานำเสนอให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นเกร็ดความรู้ใหม่ ว่าด้วยผู้กล้าเหลียงซานผู้หนึ่ง ที่มีแซ่กวน เหมือนกับกวนอู ยอดขุนพลผู้มีชื่อเสียงในสามก๊กของเรานี่เอง และบุรุษแซ่กวนแห่งเขาเหลียงซานผู้นี้ ก็มีรูปร่างสูงใหญ่องอาจ หน้าแดงดั่งพุทรา หนวดยาว ประดุจว่าเป็นท่านกวนอูกลับชาติมาเกิด เขาผู้นั้น คือ “กวนเซิ่ง” ฉายาว่า จอมยุทธ์ง้าวใหญ่ ,ไอ้มีดโต แล้วแต่สำนวนการแปล 108 ผู้กล้าฯ แต่ละฉบับจะว่าไป ซึ่งในแท่นศิลาศักดิ์สิทธิ์เรียงลำดับผู้กล้าเหลียงซานทั้ง 108 คน ระบุว่าเขาเป็นดาววีระมาจุติ และเขาเป็นผู้กล้าอาวุโสลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 108 นาย
ประวัติของ จอมยุทธ์ง้าวใหญ่ กวนเซิ่ง
ดาววีระ จอมยุทธ์ง้าวใหญ่ กวนเซิ่ง
กวนเซิ่ง เป็นบุรุษผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ องอาจ สูงแปดฉื่อ หน้าแดงดั่งพุทรา หนวดเครายาว ชอบสวมใส่อาภรณ์และหมวกสีเขียว ชนทั่วไปต่างยกย่องว่าเขาประดุจกวนกง (เทพเจ้ากวนอู) กลับชาติมาเกิด

ต่อมาสอบเข้ารับราชการเป็นนายทหารติด ได้เป็นขุนพลเมืองผู่ตง เขาจึงให้นายช่างเหล็กตีอาวุธเป็นง้าวใหญ่คล้ายง้าวมังกรจันทร์ฉายของท่านกวนอู ต่อมาได้สาบานเป็นพี่น้องกับนายทหารผู่ตงผู้หนึ่ง นามว่า “ห่าวซือเหวิน” ผู้มีฉายาว่า ดาวหมาป่าพิฆาต เพราะตอนที่มารดาของห่าวซือเหวินตั้งครรภ์เขานั้น นางได้ฝันว่าได้กลืนกินดาวหมาป่าเข้าไป เมื่อห่าวซือเหวินคลอดจึงได้รับฉายานี้ และด้วยความที่กวนเซิ่งอายุมากกว่าห่าวซือเหวิน 5 ปี จึงได้เป็นพี่ ส่วนห่าวซือเหวินเป็นน้อง

ในช่วงเวลายุคสมัยนั้น เกิดก๊กโจรกบฏมากมาย นายทหารม้าหลวงชื่อ “เซวียนจ้าน” ผู้มีฉายาว่า “ราชบุตรเขยจอมอัปลัษณ์” ที่ได้ฉายานี้เพราะว่า เขาเคยรบชนะทหารฮวนต่อเนื่องหลายศึก จนเจ้าฮวนอ๋องจะยกพระธิดาให้แต่งงานด้วย แต่พระธิดาเห็นว่าเขาอัปลักษณ์ จึงชิงฆ่าตัวตาย ถึงเซวียนจ้านจะอัปลักษณ์แต่ก็มากความสามารถ เขาอาสาฮ่องเต้พระเจ้าแผ่นดินซ่งไปรบกับพวกเขาเหลียงซาน แต่เขาขอให้ฮ่องเต้ตั้งกวนเซิ่งขุนพลใหญ่เมืองผู่ตงเป็นแม่ทัพใหญ่ในทัพนั้น ส่วนเขาขอเพียงแค่ติดตามกวนเซิ่งก็พอ เพราะเขาได้ยินกิตติศัพท์ว่ากวนเซิ่งผู้นี้เก่งกาจ อีกทั้งเป็นลูกหลานของกวนกง พวกโจรคงจะยำเกรง

เมื่อฮ่องเต้ทรงอนุมัติตามคำขอของเซวียนจ้าน ทรงให้กวนเซิ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปตีเขาเหลียงซาน กวนเซิ่งจึงขอให้นำห่าวซือเหวินน้องร่วมสาบานไปด้วย และในการยกทัพครั้งนี้ ทำให้ยอดขุนพลผู้กล้าทั้งสามสนิทสนมกันมาก ซึ่งจิตรกรในยุคสมัยต่อมา มักจะวาดภาพกวนเซิ่งไว้ควบคู่กับเซวียนจ้านและห่าวซือเหวิน และอีกนัยน์หนึ่งนั้น หากกวนเซิ่งเป็นตัวแทนของกวนอูเพราะมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน เซวียนจ้านก็เป็นตัวแทนของจิวฉอง เพราะมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงเช่นกัน และห่าวซือเหวินก็เป็นตัวแทนของเลียวฮัว เพราะจิตรกรท่านมักจะวาดห่าวซือเหวินในรูปลักษณ์ของชายฉกรรจ์หนวดเคราครึ้มคล้ายเลียวฮัว มากกว่าวาดเป็นชายหน้าขาวเกลี้ยงเกลาดั่งกวนเป๋ง

ต่อมา ด้วยอุบายของพวกฝ่ายเขาเหลียงซาน ทำให้ทั้ง กวนเซิ่ง เซวียนจ้าน และห่าวซือเหวิน เสียทีถูกพวกเขาจับตัวได้ แต่ซ่งเจียงหัวหน้าใหญ่ ก็ใช้น้ำใจและคุณธรรมของผู้กล้า พิชิตใจทั้งสามเสียอยู่หมัด และทั้งสามก็ภักดีต่อฝ่ายเขาเหลียงซาน รอวันที่ราชสำนักจะอภัยโทษให้

แต่เมื่อวันนั้นมาถึง ราชสำนักกลับหลอกใช้ฝ่ายเขาเหลียงซานไปรบกับทัพต่าง ๆ ทั้ง ทัพเมืองต้าเหลียว ทัพเถียนหู่ที่เป็นกบฏอยู่เหอเป่ย ทัพหวังชิ่งที่เป้นกบฏอยู่หว่ายซี และทัพฟางล่าที่เป็นกบฏก๊กเจียงหนาน ซึ่งทั้งเซวียนจ้าน และห่าวซือเหวิน ล้วนสละชีวิตเพื่อแผ่นดินในศึกฟางล่าทั้งคู่ ทิ้งให้กวนเซิ่งต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว


แม้นกวนเซิ่งจะรอดชีวิตจากศึกอันโหดร้ายครั้งนั้นมา และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเมืองปักกิ่ง แต่เขาก็โศกเศร้าไม่น้อยที่ต้องจากพี่น้องผู้กล้าทั้งหลาย โดยเฉพาะเซวียนจ้านกับห่าวซือเหวินที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาก่อนผู้กล้าคนอื่นๆ มาวันหนึ่ง เขาไปดื่มเหล้าฉลองกับเพื่อนนายทหารเมืองปักกิ่งด้วยกัน ถึงเขาจะมียศสูงกว่าคนอื่น แต่ผู้กล้าอย่างกวนเซิ่งก็ไม่เคยถือเนื้อถือตัว เมื่อเขาจะกลับบ้านพัก เขาโดดขึ้นม้าคู่ใจและควบตะบึงไป ด้วยฤทธิ์สุราทำให้เขาควบม้าเร็วดั่งลมกรดอย่างคึกคะนอง ทันใดนั้นเอง ร่างเงาสองสายก็มาขวางทางวิ่งของม้าเขา กวนเซิ่งจึงชักม้าให้หยุด ทันใดนั้นเอง เขาพิจารณาดู กลับพบว่า บุรุษทั้งสองที่มาขวางทางเขาไว้ คือ เซวียนจ้าน และห่าวซือเหวินผู้ล่วงลับไปในศึกฟางล่า เขาตกใจมาก ห่าวซือเหวินจึงพูดอย่างช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงของวิญญาณไร้ชีวิตว่า

“อีกไม่นานพี่ก็จะได้มาอยู่กับเราและพี่น้องผู้กล้าคนอื่น ๆ แล้ว”

กวนเซิ่งเมื่อได้ยินก็ตกใจ รีบควบม้าหันกลับแล้วหนีไปทางอื่น แต่ควบไปได้ไม่ไกล เขาก็มีความรู้สึกไม่รู้สึกอะไรอยู่พักเดียว ร่างของเขาหงายร่วงลงจากหลังม้า ศีรษะฟาดกระแทกกับพื้น เลือดนองอาบไปทั่ว และนั่น ก็คือวาระสุดท้ายของยอดขุนพลพยัคฆ์แห่งเขาเหลียงซาน เมื่อเขาตายลง ชนทั้งหลายต่างเชื่อว่า วิญญาณของเขาได้ไปรวมตัวกับวิญญาณผู้กล้าท่านอื่น ๆ และในวันที่ผู้กล้าทั้ง 108 เสียชีวิตกันแทบทุกคนแล้ว วิญญาณเหล่านั้นล้วนไปเข้าฝันร้องเรียนพระเจ้าซ่งฮุ่ยจงถึงความอยุติธรรมที่ได้รับในชีวิตราชการ เมื่อพระองค์ทรงตื่นจากพระสุบิน ทรงร้องไห้อาลัยเหล่าผู้กล้าทั้งหลาย และทรงตรัสถึงกวนเซิ่งด้วยว่า
“เราเสียดายฝีมือของกวนเซิ่งที่เปรียบประหนึ่งกวนกงมาจุติ แต่เขากลับไม่ได้อยู่รับใช้แผ่นดินของเรา”
และตำนานของเหล่าผู้กล้าทั้ง 108 คน รวมถึงผู้กล้าสกุลกวนอย่างกวนเซิ่ง ก็จบลงเพียงเท่านี้ แม้จะเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ แต่วีรกรรรม ความกล้าหาญ คุณธรรม และความเสียสละเพื่อแผ่นดินของพวกเขา จะยังคงถูกจดจำตลอดไป ให้ลูกหลานทุกคน รู้จักที่จะมีอุดมการณ์ในการเสียสละเพื่อแผ่นดิน รักชาติ จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมใจคนทั้งชาติ และไม่ยอมสิโรราบต่ออำนาจชั่วทั้งมวล

ขุนไกรพลพ่าย
3 พฤภาคม57

*เป็นแอดมินในเพจอีกคนครับ ในเพจมีสองแอดมิน แต่ใช้บล็อกเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น