วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์

สวัสดีครับมิตรรักนักอ่านทุกท่าน พบกับกระผมนักเขียนคนจนอย่าง “ขุนไกรพลพ่าย” อีกแล้วนะครับ หลังจากที่กระผมได้ฝากฝีมือปลายปากกาไว้ในผลงานบทความชิ้นก่อนที่ชื่อว่า “กวนเซิ่ง วีรบุรุษเหลียงซานลูกหลานกวนอู” ซึ่งท่านทั้งหลายคงจะได้ทัศนาผลงานชิ้นนั้นของกระผมไปแล้ว มาบัดนี้ กระผมก็มีโครงการที่จะเขียนบทความเป็นชุดบทความให้มิตรรักนักอ่านทุกท่านได้ติดตามอ่านกันจนหนำใจกันนะขอรับ

สำหรับบทความ “เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์” บทนี้ เป็นหนึ่งในบทความในชุดบทความของผมที่มีชื่อว่า “เดชห้าขุนพลพยัคฆ์ลุ่มน้ำแยงซี” ซึ่งกระผมก็จะขอฝากบทความทั้งชุดไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของมิตรรักนักอ่านทุกท่านนะครับ บัดนี้ ก็เชิญทุกท่าน ติดตามดูเถิดว่า ผมจะดึงอะไรในตัวของขุนพลเทียเภามานำเสนอต่อมิตรรักนักอ่านบ้าง แล้วทำไม ชื่อบทความบทนี้จึงมีชื่อว่า “เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์”  ขอเชิญทุกท่าน ทัศนา...

เทียเภา มีชื่อรองว่า เต๋อโหมว เกิดปีใดไม่ทราบแน่ชัด เป็นชาวตำบลถู่หยิน เมืองโย่วเป่ยผิง (ปัจจุบันคือตำบล เฟิ่งเหริน เมืองถังซาน เหอเป่ย)  เขาเป็นคนปราดเปรื่องทั้งบุ๋นและบู๊ เป็นคนที่ฉลาดหลักแหลมในการวางยุทธวิธีมากมาย และมีฝีมือการให้เพลงอาวุธที่ยอดเยี่ยมหาตัวจับยากอีกผู้หนึ่ง อาวุธที่เขาใช้คือ ทวนอสรพิษร่ายรำ ซึ่งเป็นทวนที่มีใบมีดรูปร่างประหลาดคล้ายงูเลื้อย หรืออาวุธที่มีลักษณะคล้ายๆของเตียวหุยนั่นเอง
   
ความสามารถของเขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนท่านเจ้าเมืองโย่วเป่ยผิงเรียกให้ไปรับราชการด้วย ในตำแหน่งขุนพลนายทหารม้า แต่รับใช้ท่านเจ้าเมืองได้ไม่ถึงห้าปี ท่านเจ้าเมืองก็ป่วยและเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว เจ้าเมืองคนใหม่ที่ราชสำนักส่งมาปกครองเมืองโย่วเป่ยผิงนั้น เป็นคนที่ชอบรับสินบาดคาดสินบน ทั้งเขาและเทียเภาต่างไม่พอใจในอุปนิสัยของฝ่ายตรงข้ามทั้งคู่ ในที่สุด เจ้าเมืองโย่วเป่ยผิงคนใหม่ก็หาเรื่องปลดเทียเภาออกจากราชการ อีกทั้งยัดข้อหาว่าเป็นโจร ต้องโทษเนรเทศไปที่เมืองเตียงสา ซึ่งที่แห่งนั้น เทียเภาจะได้พบคนที่ทำให้ชีวิตเทียเภากลับมารุ่งเรืองได้ เสมือนคนที่ชุบชีวิตเทียเภาให้ฟื้นจากความตาย



เทียเภาเมื่อต้องโทษเนรเทศไปยังเมืองเตียงสา เขาถูกส่งให้ไปทำงานต่าง ๆ นานา จนในที่สุด เขาได้ไปทำงานในบ้านสกุลซุนแห่งเตียงสา และที่นั่น ก็ทำให้เทียเภาได้พบกับเจ้านาย ผู้ซึ่งเป็นเสมือนพยัคฆ์ร้าย ที่หาจอมคนผู้ใดในยุคนั้นเทียบได้ เขาคนนั้นคือ “ซุนเกี๋ยน” พยัคฆ์แห่งกังตั๋งนั่นเอง

ซุนเกี๋ยนผู้นี้ เขาเป็นแม่ทัพแห่งเมืองเตียงสาผู้ทระนง เมื่ออายุสิบหกเขาตามบิดาไปค้าขาย ซุนเกี๋ยนได้พบโจรสลัดกลุ่มหนึ่งกำลังนับทรัพย์สินที่ไปปล้นมาจากพ่อค้าผู้บริสุทธิ์มาได้ ซุนเกี๋ยนจึงถือกระบี่คู่กายกระโดดขึ้นเนิน ควงกระบี่อย่างองอาจพร้อมกับตะโกนเรียกไพร่พลทหารให้มาจับคุมเหล่าโจร พวกโจรเห็นดังนั้นก็ขวัญหนีดีฝ่อ ต่างพากันทิ้งทรัพย์สินและหนีเอาชีวิตรอดกันไป เจ้าเมืองเตียงสาทราบข่าวจึงตั้งเขาเป็นแม่ทัพประจำเมือง เทียเภาได้เจ้านายดีเช่นนี้ มีหรือจะไม่ดีใจ แม้ตอนนั้นเขายังอยู่ในฐานะนักโทษเนรเทศ แต่ก็พยายามทำให้เจ้านายผู้เป็นถึงวีรบุรุษแห่งยุคผู้นี้ เห็นฝีไม้ลายมือ
ครั้งนั้น เกิดกลุ่มโจรกบฏพ่อลูกตระกูลหือ (หรือ สวี ในสำเนียงจีนกลาง) บุกตีเมืองเตียงสา ซุนเกี๋ยนพยัคฆ์ร้ายจึงออกรบตะลุยจัดการพวกโจร ซึ่งเขาก็ขออนุญาตท่านเจ้าเมืองในการนำนักโทษอย่างเทียเภาไปเป็นลูกมือด้วย เทียเภาเองก็เข้าประจัญบานสังหารพวกโจรไปมาก จนท่านเจ้าเมืองเตียงสาเห็นความสามารถ แล้วทำเรื่องขออภัยโทษจากราชสำนัก และได้รับบำเหน็จเป็นขุนพลนายทหารม้าใต้บังคับบัญชาแม่ทัพซุนเกี๋ยน พยัคฆ์ร้ายแห่งกังตั๋ง

ต่อมาไม่นาน ซุนเกี๋ยนถูกสั่งย้ายไปรับราชการที่มณฑลชีจิ๋ว ซึ่งเทียเภาก็ย้ายตามเจ้านายไปด้วย หลังจากนั้นไม่นาน เทียเภาก็ไปพบจอมยุทธ์ยอดฝีมือสามคน คนแรกมีฝีมือในการใช้แส้เหล็กคู่ (แส้เหล็กคู่ เป็นอาวุธจีนโบราณชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายคฑายักษ์ในวรรณคดีไทย) อีกคนหนึ่งมีพละกำลังแขนมาก ถนัดการใช้ง้าวใหญ่ ส่วนคนสุดท้าย ถนัดการใช้ดาบคู่ เทียเภาเห็นว่า ทั้งสามคนล้วนนำมาช่วยงานใหญ่ในแก่เจ้านายได้ จึงนำพวกเขาไปฝากรับราชการกับซุนเกี๋ยน เมื่อไตร่ถามชื่อแซ่กันเสร็จสรรพ จึงรู้ว่า จอมยุทธ์ผู้ใช้แส้เหล้กคู่นามว่าอุยกาย ส่วนจอมพลังที่ใช้ง้าวใหญ่คือฮันต๋ง และผู้กล้าที่ใช้ดาบคู่มีนามว่า โจเมา


เทียเภาได้ควบตะบึงม้า ติดตามซุนเกี๋ยน พยัคฆ์กังตั๋งผู้เป็นเจ้านายไปนานหลายปี จวบจนวาระสุดท้ายของราชันย์พยัคฆ์นั้น เทียเภาก็อาลัยไม่หาย เพราะพยัคฆ์ร้ายผู้นี้แหล่ะ ที่ทำให้เขาเจริญรุ่งเรืองในชีวิตราชการได้จนถึงขั้นที่ใครๆหลายคนในแผ่นดินจีนฮั่นสมัยนั้นไม่อาจเอื้อมถึงได้อยากเขา อาศัยแค่ฝีมือนั้น หากไม่ได้นายดี ก็ไปไม่ถึงดวงดาวได้ ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ซุนเกี๋ยนยังดำรงชีพอยู่ เทียเภาก็จะคอยติดตาม เสมือนหนึ่งเป็นเงาของซุนเกี๋ยน และนี่ก็คือที่มา ของ “เทียเภา...เงาแห่งพยัคฆ์”

ขุนไกรพลพ่าย
9 พฤษภาคม 57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น