วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อ่านสามก๊กฉบับไหนดี

คำถามยอดฮิตติดชาร์ตที่แฟนคลับสามก๊กหลายคนหลายท่านชอบถามหรือสงสัยกันเหลือเกิน ผู้เขียนเจอคำถามนี้มามากนัก และแต่ละครั้งก็ต้องพิมพ์ยาวจริง ๆ ดังนั้นขอสรุปออกมาเป็นบทความนี้เลยละกัน

หากจะถามว่า  ถ้าอยากจะอ่านสามก๊กที่เล่าเรื่องจากต้นจนจบเรื่อง ฉบับไหนแนะนำครับ/ค่ะหนังสือสามก๊กที่เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบนั้นก็มีหลายฉบับโดยจะกล่าวออกมาดังนี้

1. สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปล โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และซินแสจีนอีกหลายท่าน ซึ่งสามก๊กฉบับนี้เป็นหนังสือสามก๊กที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาหนังสือสามก๊ก ฉบับปัจจุบัน และถือเป็นสามก๊กเล่มแรก ซึ่งสันนิฐานว่าสามก๊กน่าจะเข้ามาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา แต่น่าจะสูญหายหรือถูกทำลายไปแล้ว ดังนั้นหนังสือที่เราจะบอกว่าเป็นเล่มแรกของประเทศ ไทย หรือสยามในอดีต ก็ย่อมต้องตกเป็นของสามก๊กฉบับนี้ จุดเด่นของสามก๊กฉบับนี้ก็คือสำนวนภาษาที่โบราณ สละสลวย แต่สำหรับบางท่านอาจจะอ่านแล้วเข้าใจยากก็เป็นได้ ซึ่งสามก๊กฉบับนี้ก็เป็นสามก๊กที่ใช้อ้างอิงจากสามก๊กหลายฉบับหรือเกือบทุก ฉบับเลยทีเดียว เป็นหนังสือที่ถ้าจะอ่านสามก๊ก ต้องมีเล่มนี้นะครับ เป็นหนังสืออันทรงคุณค่าทั้งวรรณศิลป์ และรสความ คนไทยสมควรอ่านเล่มนี้อย่างยิ่ง

รูปแบบปกสามก๊กฉบับหอพระสมุดในรูปแบบต่าง ๆ แต่เนื้อหาเดียวกัน ดังนั้นหากท่านเห็นชื่อสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือหอพระสมุดก็คือฉบับนี้ ปกที่ยกมาอาจจะไม่ครบทั้งหมด แต่ก็เป็นปกที่มีเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่บางปกก็อาจจะไม่มีแล้วในปัจจุบัน









2. สามก๊กฉบับแปลใหม่ โดยวรรณไว พัธโนทัย ซึ่งเป็นสามก๊กที่แปลใหม่จากต้นฉบับภาษาจีน เนื่องจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้นมีการ แปลผิด” “แปลไม่ครบหลายจุด วรรณไว พัธโนทัยจึงแปลใหม่จากต้นฉบับภาษาจีน ซึ่งสามก๊กฉบับนี้มีสำนวนภาษาที่อ่านง่าย เป็นปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบให้เห็นว่าสามก๊กฉบับหอพระสมุดมีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้าง


3. สามก๊กฉบับสมบูรณ์ โดยวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ซึ่งสามก๊กฉบับนี้เป็นการแปลใหม่จากภาษาจีน และได้รับการยกย่องกล่าวขานว่าเป็นสามก๊กที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยแปลมา แม้สามก๊กฉบับแปลใหม่เองก็ยังมีแปลผิด แปลไม่ครบ แต่สามก๊กฉบับนี้เป็นสามก๊กที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นการแปลคำต่อคำ และครบเครื่องเรื่องเนื้อหา  ทั้งยังมีบทวิจารณ์ภายในเล่มอีกด้วย แต่กระนั้นสามก๊กฉบับนี้เนื้อหาภายในเล่มจะเรียกชื่อตัวละคร สถานที่เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยไม่คุ้น เนื่องจากคนไทยจะคุ้นการเรียกชื่อแบบภาษาจีนฮกเกี้ยน แต่กระนั้นสามก๊กฉบับนี้ก็ยังมีการวงเล็บชื่อฮกเกี้ยนเอาไว้ด้วย




4. สามก๊กฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม นามปากกาของไพศาล พืชมงคล ซึ่งสามก๊กฉบับนี้ไม่ได้แปลมาจากต้นฉบับภาษาจีนแต่อย่างใด หากแต่เป็นสามก๊กที่มีเนื้อความยาวที่สุด โดยอ้างอิงเรื่องจากสามก๊กฉบับหอพระสมุด ซึ่งสาเหตุที่เรืองวิทยาเขียนสามก๊กฉบับนี้ก็ได้อยู่ในหนังสือสามก๊กฉบับคนขายชาติ ซึ่งข้อความนั้นมีความว่า

...ในสภาพเช่นนี้ปัญหาการขายชาติ ปัญหาการกอบกู้ฟื้นฟูชาติ ปัญหาวีรชน และปัญหาทรชนจึงเกิดขึ้น และกลายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย ทุกพื้นที่ให้ความสนใจ จึงเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องยาวสักเรื่องหนึ่ง ที่สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นบรรณาการท่านผู้อ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการดังนั้น จึงเห็นว่าเรื่องยาวที่จะเขียนขึ้นควรจะต้องเป็นเรื่องสามก๊ก ในมุมมองที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของประเทศไทย เหตุนี้จึงได้ให้ชื่อเรื่องยาวที่จะเขียนนี้ว่า สามก๊กฉบับคนขายชาติ...

5. สามก๊กฉบับนักบริหาร โดยศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน สำหรับสามก๊กฉบับนี้มีการเล่าเรื่องแบบง่าย ๆ แต่กระนั้นจุดเด่นของสามก๊กฉบับนี้ก็คือมีภาพประกอบที่เป็นภาพประกอบจากภาพยนตร์โทรทัศน์ชุดสามก๊ก หรือที่รู้จักกันในชื่อ สามก๊ก 1994นี่เอง


สำหรับหนังสือที่เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบอย่างครบเลยก็มีด้วยเท่านี้ หากจะให้แนะนำก็ขอแนะนำว่า ถ้าท่านเพิ่งจะอ่าน ไม่ขอแนะนำสามก๊กฉบับหอพระสมุด เนื่องจากสามก๊กฉบับนี้สำนวนโบราณ เวลาอ่านท่านอาจจะงง หรือถ้าท่านคิดว่าอ่านได้ก็มิขอขัดศรัทธา ส่วนสามก๊กฉบับคนขายชาติก็มิขอแนะนำเพราะหายากและมีราคาสูง ถ้าหากอ่านไปแล้วเบื่อ มันไม่ใช่สิ่งที่ชอบก็คงจะไม่มีประโยชน์ ดังนั้นถ้าท่านอยากจะอ่านก็แนะนำ ๓ เล่มนำก่อน สามก๊กฉบับสมบูรณ์หายากและราคาค่อนข้างสูง สามก๊กฉบับแปลใหม่หาง่ายและสำนวนเป็นภาษาปัจจุบัน ส่วนสามก๊กฉบับนักบริหาร อ่านง่ายแต่หายาก
นิดนึง หรือท่านอาจจะลองหาหนังสือที่เป็นหนังสืออ่านประกอบมาอ่านก่อนก็ได้ เต็มเลยครับ เพราะบางทีสามก๊กก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คุณชอบก็ได้ลองอ่าน ถ้าชอบก็ค่อยต่อยอดหาอ่านฉบับยาว ๆ ต่อไป


เมื่อกล่าวเกี่ยวกับสามก๊กที่เป็นเล่าเรื่องไปแล้ว ผู้เขียนก็จะขอแนะนำหนังสือสามก๊กที่เป็นลักษณะของการเล่าเฉพาะเรื่อง หรือเล่าเฉพาะตัวละคร โดยจะแนะนำได้เพียงบางเล่มเท่านั้น คือหนังสือที่ได้รับความนิยมจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ดังนี้

1. สามก๊ก ฉบับวณิพก โดยยาขอบ ซึ่งสามก๊กฉบับนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องด้วยมีเนื้อหาที่อ่านง่าย ทั้งยังมีสำนวนภาษาที่สละสลวย โดยสามก๊กฉบับนี้จะมีเนื้อเรื่องลักษณะของตัวละคร เป็นตัว ๆ ไป ไม่ได้เล่าตั้งแต่ต้นจนจบ และสามก๊กฉบับนี้ก็ทำให้นักเขียนหลายท่านเกิดแรงบันดาลใจเขียนสามก๊กของตัวเองขึ้นอีกด้วย และสามก๊กฉบับนี้ก็มีความโดดเด่นก็คือ ฉายาต่าง ๆ ของตัวละครที่ยาขอบได้ตั้งเอาไว้ อาทิ จูล่ง สุภาพบุรุษแห่งเสียงสาน , ขงเบ้ง ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร , จิวยี่ ผู้ถมน้ำลายรดฟ้า , โจโฉ ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ ฯลฯ และฉายาต่าง ๆ ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบันอีกด้วย














2. สามก๊กฉบับคนเดินดิน โดยเล่าชวนหัว ซึ่งสามก๊กฉบับนี้เป็นสามก๊กที่เล่าเรื่องแบบตัวละครไป และจุดเด่นของสามก๊กฉบับนี้ก็คือการใช้สำนวนที่ง่าย ๆ แต่อ่านสนุก ทั้งยังมีแนวคิดไม่เหมือนคนอื่น กล่าวคือ ขงเบ้งเป็นคนที่หลายคนยกย่อง แต่สามก๊กฉบับนี้ฉะขงเบ้งในหนังสือเปิดหน้ากากขงเบ้ง และในสามก๊กฉบับนี้ก็ยังมีหนังสือเล่มอื่นอีก อาทิ ล่องเรือชมจิวยี่ , เทิดศักดิ์ศรีจูล่ง ฯลฯ

ขอบคุณภาพจาก Navarine KaReem
3. สามก๊กฉบับนายทุน โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งสามก๊กฉบับนี้มีหนังสือทั้งหมดทั้งสิ้น ๒ เล่ม ได้แก่ โจโฉ นายกตลอดกาล , เบ้งเฮ็ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น เป็นการเล่าเรื่องแบบเจาะตัวละคร ซึ่งสามก๊กฉบับนี้ก็มีสองเล่ม เป็นการเจาะลึกเบ็งเฮ็ก และโจโฉ โดยจุดเด่นของสามก๊กฉบับนี้ก็คือการยกข้างยกหางโจโฉ ซึ่งสามก๊กฉบับนี้เป็นการล้อเลียนสามก๊กของยาขอบ ซึ่งของยาขอบนั้นเป็นเรื่องของการยกหางพวกเล่าปี่ แต่สามก๊กฉบับนายทุนเป็นการยกหางโจโฉ และชื่อของสามก๊กฉบับนี้ก็เป็นการตั้งให้ตรงข้ามกับของยาขอบ กล่าวคือ ของยาขอบเป็นสามก๊กฉบับวณิพก ก็คือการเล่าเหมือนนักเล่านิทานหากินตามข้างถนน แต่สามก๊กฉบับนายทุน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชตั้งเพื่อให้เป็นการเล่าแบบเจ้าสัว คนรวย จึงใช้คำว่านายทุน






นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือสามก๊กทั้งหมด ซึ่งถ้ามาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกได้ว่า ผู้เขียนไม่สามารถบอกได้จริง ๆ ว่าสามก๊กฉบับไหน ของนักเขียนท่านใดดีที่สุด หากแต่แล้วแต่การพินิจพิจารณาของแต่ละท่าน ซึ่งสามก๊กฉบับต่าง ๆ จุดเด่นก็มีต่างกัน สำนวนต่างกัน แนววิเคราะห์ก็ต่างกัน แล้วแต่ท่านจะชอบของใคร แต่กระนั้นลูกหลานของท่านบางคนอาจจะชอบอ่านการ์ตูน สามก๊กก็มีเป็นหนังสือการ์ตูน(เลื่อนลงไปจะเจอภาพหนังสือการ์ตูน บางฉบับ) สามารถหาซื้อมาอ่านได้เช่นกัน ดังนั้นหากท่านคิดว่ายังไม่มั่นใจในตัวเองว่าสามก๊กเป็นสิ่งที่ใช่หรือเปล่า ก็ลองไปหาซื้อหนังสือสามก๊กที่เป็นหนังสืออ่านประกอบก่อนก็ยังได้ เพราะปัจจุบันหนังสือสามก๊กมีมากมาย ที่เป็นแบบวิเคราะห์ก็มี เล่าแบบกระชับ ๆ ก็มี เจาะลึกตัวละครก็มี ก็ลองหาซื้อมาอ่านก่อน หากชอบก็ค่อยต่อยอดไปเล่ม ๆ อื่น เมื่อเพื่อพูนปัญญาของท่านให้งอกงามต่อไปในภายหน้า


David Ball
3 พฤษภาคม 57 
  ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก google.com

1 ความคิดเห็น:

  1. มีเงินมีเวลามีปัจจัยพร้อม ก็อ่านไปเลยทุกเล่ม
    แต่เล่มเดียวที่ต้องมี ต้องอ่านคือ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)
    เพราะเป็นสามก๊กฉบับประจำชาติ เป็นหนังสือชั้นครู Masterpiece
    แปลตั้งแต่ ร.1 แต่ก็อ่านกันมาจนถึงปัจจุบัน ... ลองกวาดตาดูแล้ว
    จะมีหนังสือเล่มไหนดีกว่านี้อีกครับ

    ตอบลบ