มนุษย์ทุกคนมีกิเลสตัณหาอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะเราก็ไม่ใช่อรหันต์สักหน่อย เล่าปี่ก็คือบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ดังนั้นเขาก็มีราคะ โลภะ โมหะ โทสะฝังอยู่ในใจของเขาด้วยเช่นกัน และในบทความนี้จะยกตัวอย่างการที่โทสะกลืนกินจิตใจในตัวไปช่วงระยะที่อาจจะส่งผลไปตลอดกาลก็เป็นได้ โดยยกตัวอย่างในสามก๊กที่เล่าปี่มีโทสะจนขาดสติ ทั้งยังประมาทอีกส่งผลร้ายอีกมากมาย เชิญอ่านได้ ณ บัดนี้ในประวัติศาสตร์แทบทุกชาติ ล้วนมีข้อคิดให้ได้คิดกัน ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นก็คือการศึกษาอดีต พัฒนาปัจจุบัน รู้ทันอนาคต และตัวอย่างที่จะมาเตือนใจท่านทั้งหลายก็คือเรื่องของการขาดสติและความประมาทในสามก๊กก็เช่นกัน ซึ่งสามก๊กเป็นยุคประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ชัดเจน ดังนั้นก็แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้แปลว่าเหตุการณ์ในวรรณกรรมจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไปเสียหมด
ในเหตุการณ์นี้ก็คือเหตุการณ์ที่เล่าปี่ยกทัพไปบุกง่อก๊กเพื่อล้างแค้นให้กวนอู หรือในชื่อ “ศึกอิเหลง” โดยฉนวนเหตุของศึกนี้คือการขัดแย้งเรื่องดินแดนเมืองเกงจิ๋วของจ๊กก๊ก (ก๊กของเล่าปี่) กับง่อก๊ก (ก๊กของซุนกวน) ที่ขัดแย้งกัน เพื่อดินแดนเมืองเกงจิ๋วซึ่งเป็นเมืองที่เป็นชัยภูมิและเป็นที่หมายตาของผู้นำก๊กแต่ละก๊กด้วย
ซึ่งหลังจากสงครามผาแดงหรือ “เซ็กเพ็ก” จบลงด้วยความปราชัยของโจโฉนั้นเอง เล่าปี่กับซุนกวนก็เริ่มจะขัดแย้งกันเรื่องเกงจิ๋ว โดยเล่าปี่นั้นได้ทำการ “ขอยืม” เมืองเกงจิ๋วจากซุนกวนเพื่อตั้งตัว และเมื่อจบศึกผาแดง ซุนกวนก็ทำการทวงคืนจากเล่าปี่หลายต่อหลายครั้ง โดยให้โลซกเป็นทูตในการเจรจาแต่โดยดี แต่ด้วยการเจรจาแบบสันติวิธีเล่าปี่กับขงเบ้งก็ผัดผ่อนอย่างนี้อย่างนั้นมาโดยตลอด ทำให้ซุนกวนไม่ค่อยจะพอใจนัก แต่ก็ยังใช้วิธีการเจรจาโดยสันติตลอด ๆ
จนกระทั่งเล่าปี่สามารถบุกเบิกอำนาจของตนไปที่ “เสฉวน” ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีภูเขาสูงเป็นปราการในการรับศึก หากข้าศึกจะเข้าจะต้องเดินทางที่ทรหด เต็มไปด้วยอันตรายภัยพาลมากมาย เดิน ๆ อยู่อาจจะเห็นมัจจุราชคอยกวักมือเรียกก็เป็นได้ ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับนักเดินทางหลายท่านที่เข้าไปในเสฉวน เขาก็บอกเป็นเสียงเดียวว่าลำบาก แล้วผู้อ่านลองจินตนาการกันดูว่าในปัจจุบันเขายังบอกว่าลำบากเลย ถึงแม้จะมีพาหนะก็ตามที แต่ถ้าย้อนไป 1,800 ปีแล้ว พาหนะถนนหนทางก็ยังไม่เท่าสมัยนี้ ก็ลองคิดกันดูนะครับ ว่าจะลำบากขนาดไหน หากต้องเดินทางในสมัยนั้น
แต่ก่อนที่เล่าปี่จะนำทัพไปบุกเสฉวนนั้นได้มอบหมายให้กวนอู ขงเบ้ง เตียวหุย จูล่งอยู่รักษาเมืองเกงจิ๋วเพราะเกรงว่าซุนกวนจะนำกำลังมาบุกยึด แต่... “บังทอง” กุนซือที่ไปกับเล่าปี่เพื่อให้คำปรึกษา เกิดเคราะห์กรรมดับอนาถคาเนินหงส์ร่วงไป ทำให้เล่าปี่ต้องเรียกขงเบ้ง จูล่ง เตียวหุยมาช่วยในการจะยึดเสฉวน ดังนั้นก็จะเหลือ “กวนอู” เพียงผู้เดียวที่รักษาเกงจิ๋ว
ด้วยกวนอูมีนิสัยด้านร้ายของเขาคือ “ความหยิ่งทรนง” ดังนั้นเมื่อซุนกวนส่งคนมาเจรจาทวงเกงจิ๋วก็จะถูกด่าบ้าง ถูกขับไล่แบบไม่ไว้หน้าบ้าง ทำให้ซุนกวนไม่พอใจเป็นอย่างมาก ตัดสินมีคำสั่งให้ลิบองนำกำลังไปเอาเกงจิ๋วคืนมา
ลิบองจึงใช้อุบายและได้เกงจิ๋วคืนอีกทั้งยังได้ “ของแถม” คือสามารถจับเป็นตัวกวนอูได้ด้วย
เมื่อได้ตัวกวนอูมาแล้วซุนกวนเห็นว่ากวนอูนั้นเป็นผู้ชาญการรณรงค์ พิชัยสงครามจึงอยากได้ตัวกวนอู จึงเกลี่ยมกล่อมหว่านล้อมกวนอู แต่หาได้ซื้อใจกวนอูได้ไม่ ซุนกวนจึงสั่งประหารชีวิตกวนอูไปในที่สุด
เมื่อกวนอูกลายเป็นผีไปแล้ว เล่าปี่ทราบข่าวก็โกรธมี “โทสะ” จนกระทั่งเป็นลม และจะนำทัพไปบุกล้างแค้นซุนกวน
![]() |
รูปปั้นเล่าปี่ |
แต่ขงเบ้งและขุนนางในเสฉวนต่างก็ทัดทานเล่าปี่
เนื่องจากเห็นว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว เล่าปี่จะต้องเป็นมิตรกับซุนกวนเพื่อต่อสู้โจโฉ
แต่เล่าปี่ก็หาได้เชื่อไม่ ก็ด้วยคิดจะล้างแค้น ไม่นานนักเตียวหุยก็มาถูกฆ่าตัดคอโดยฮอมเกียง
เตียวตัดสองทหารผู้ใกล้ชิดกับเตียวหุย เพราะถูกเตียวหุยขู่เข็ญว่าต้องหาธงขาวมาภายใน 3 วันให้พอกับทัพ เพื่อจะยกทัพไปบุกง่อก๊ก
แต่ธงขาวให้พอกับทัพมากมายนั้นหากจะหาภายใน 3
วันนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ฮอมเกียง
เตียวตัดเห็นว่าถึงอย่างไรแล้วก็หาธงขาวไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนดแน่นอน
ก็จะถูกสั่งประหารชีวิต ทั้งสองจึงชิงลอบไปฆ่าเตียวหุย
ตัดหัวไปสวามิภักดิ์กับซุนกวน
เมื่อเล่าปี่ทราบเรื่องก็เสียใจและยิ่งแค้นซุนกวนเป็นเท่าทวี กรีฑาทัพ 75 หมื่น หรือราว 750,000 คนไปบุกง่อก๊ก
และได้รับชัยชนะมาโดยตลอดจนกระทั่งซุนกวนส่ง “ลกซุน” ปราชญ์หนุ่มผู้ชำนาญพิชัยสงครามมาสู้รบตบมือกับเล่าปี่ เนื่องด้วยลกซุนนั้นมีอายุที่น้อย อายุของเล่าปี่กับลกซุนห่างกันพอจะเป็นพ่อลูกกันได้เลยทีเดียว จึงทำให้เล่าปี่ดูหมิ่นดูแคลนว่ายังเยาว์วัย ไร้ประสบการณ์ จะมารบกันคงจะยาก เล่าปี่ก็ประมาทในฝีมือการบัญชาการของลกซุน
ด้วยความประมาทของเล่าปี่ เล่าปี่เห็นว่าทหารเดินทางเหนื่อยอ่อนจึงไปตั้งค่ายใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งตามหลักพิชัยสงครามเป็นสิ่งต้องห้ามในการตั้งค่าย เพราะถ้าศัตรูโจมตีด้วยไฟ ก็จะเสียหายยับย่อย และในที่สุดเล่าปี่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่ลกซุน ด้วยวิธีการเผาค่ายในเวลากลางคืน ทัพ 75 หมื่นที่ยกไปง่อก๊กนั้น เหลือกลับมาได้ไม่ถึงครึ่งเนื่องด้วยถูกเพลิงอัคคีเผาจนมอดไหม้เป็นธุลีไป
ทำให้เล่าปี่ต้องหนีหัวซุกหัวซนและไม่กล้ากลับไปยังเสฉวนเพราะอายต่อขุนนาง จึงไปพำนักที่เมือง “เป๊กเต้เสีย” และก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาในเมืองนั้น
![]() |
เล่าปี่สั่งเสียขงเบ้งก่อนตาย |
ดังนั้นตัวอย่างจากประวัติศาสตร์สามก๊กว่าด้วยเรื่องของความประมาท การขาดสตินั้นก็มีให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนแล้วว่า ถ้าหากคุณขาดสติ มีความประมาทการใหญ่หรือจุดหมายที่คุณประสงค์ให้มันเป็นไปตามที่คุณต้องการอาจจะเสียหาย หรือพังพินาศเลยก็ยังได้ ตัวอย่างก็คือเล่าปี่แพ้ศึกอิเหลงที่ทั้งกำลัง ขวัญกำลังใจของทหารก็ดีกว่าฝ่ายง่อก๊กมาก แต่ด้วยเล่าปี่ประมาทจึงหละหลวมในการรบ เปิดช่องให้ลกซุนหาจุดอ่อนและจี้จุดอ่อน จนกระทั่งแพ้ไปในที่สุด หรือเราอาจจะกล่าวได้ว่าการแพ้ครั้งนี้ของทัพจ๊ก เป็นการแพ้ภัยตนเองเลยก็ยังว่าได้
ก่อนจบนั้นขอนำความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสเอาไว้ก่อนปรินิพพาน หรือ “ปัจฉิมโอวาท” ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
ก่อนจบนั้นขอนำความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสเอาไว้ก่อนปรินิพพาน หรือ “ปัจฉิมโอวาท” ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
David Ball
3 พฤษภาคม 57
เรื่องประมาทนั่นสาเหตุหลักเลยครับ แต่แพ้ในศึกอิเหลง ผมมองว่าเป็นเพียงเรื่องปกติในการสงคราม
ตอบลบเพราะเล่าปี่ยกทัพมาก็มีทั้งชนะและแพ้สลับกัน
สิ่งที่พลาดแต่แรก คือการวางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่เกินกำลัง
หากเปลี่ยนจากตีง่อก๊กเป็นเพียง "ยึดคืนเกงจิ๋ว"
ขงเบ้งน่าจะเห็นด้วยและให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะจะดำรงยุทธศาสตร์หลงจงได้ต่อไป